รีวิว Sanook! eBay และพบกับสินค้าชิ้นแรกของผมบนเว็บนี้

หลังจากที่เคยวิเคราะห์เรื่อง Sanook! eBay ไปเมื่อครึ่งปีก่อน ตอนนี้ Sanook! ก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายออกมาแล้วภายใต้ชื่อเว็บ www.shopping.co.th

เปิดตัวมาได้ยังไม่ถึงหนึ่งเดือน มีการไปออกบูธในงาน E-Commerce E-Business Expo 2007 ทำให้ตอนนี้มีสินค้าให้เลือกซื้อหรือประมูลได้ประมาณ 3,000 รายการ อาจจะเรียกได้ว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Pramool.com

Sanook! eBay

รูปแบบของเว็บมีกลิ่นอายของ eBay แบบชัดเจน เป็นรูปแบบที่คนที่เคยซื้อขายสินค้าบน eBay คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่แพลตฟอร์มที่ใช้เป็นแพลตฟอร์มที่ Sanook! พัฒนาขึ้นมาเอง ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มของ eBay นั่นหมายความว่าถึงแม้คุณจะเป็นสมาชิกของ eBay อยู่แล้ว คุณก็ต้องสมัครสมาชิกอีกรอบกับ Sanook! ถึงแม้คุณจะมี feedback จากที่เคยซื้อขายสินค้าบน eBay มาก่อนแล้ว ก็นำ feedback เหล่านั้นมาใช้ไม่ได้ และถึงแม้คุณจะได้ feedback จาก Sanook! eBay เท่าไหร่ ก็นำไปใช้บน eBay อีก 28 ประเทศทั่วโลกไม่ได้

มีหมวดหมู่สินค้าทั้งหมด 21 หมวด ค่อนข้างครอบคลุม และมีหมวดอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นหมวดที่ eBay ไม่มีด้วย แต่ผมว่ายังขาดหมวดต้นไม้และสัตว์เลี้ยงอยู่ ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ให้อารมณ์คล้ายๆ กับตลาดนัดจตุจักร

หมวดสินค้าที่ได้รับความนิยมที่สุดในตอนนี้คือหมวดเครื่องแต่งกาย/ประดับ รองลงมาคือหมวดเสื้อผ้า ซึ่งสองหมวดนี้ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับสินค้าไทยยอดนิยมที่ขายบน eBay คือกลุ่มเครื่องประดับและกลุ่มเสื้อผ้า

เมื่อคลิกเข้ามาดูในหน้ารายการสินค้า จะพบกับความน่าหงุดหงิดเล็กๆ ก็คือมีจำนวนสินค้าเพียง 10 รายการต่อหนึ่งหน้าเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้จะต้องเสียเวลาคลิกดูหน้าต่อไปหลายครั้ง ซึ่งผมว่าคลิก 3 ครั้งก็เบื่อแล้ว ผมมองว่าควรจะเพิ่มจำนวนสินค้าต่อหนึ่งหน้าให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ scroll down และเห็นความหลากหลายของสินค้า

อีกเรื่องที่น่าหงุดหงิดก็คือการจัดเรียงรายการสินค้าซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ถูกต้องนัก ในเว็บแสดง default ไว้ว่าเรียงลำดับตามสินค้ามาใหม่ แต่ผลลัพธ์ที่แสดงออกมากลับไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องลำดับการแสดงรายการสินค้าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ มันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้สินค้าขายดีได้ โดยที่ผู้ขายจะต้องพยายามทำให้สินค้าของตัวเองติดอยู่ในอันดับแรกๆ ในช่วงเวลาที่มีผู้ซื้อกำลังเลือกหาสินค้าอยู่เยอะ

หน้าแสดงรายการสินค้าใน Sanook! eBay
ลองสังเกตภาพนี้ที่เรียงลำดับตามสินค้ามาใหม่ (default) แต่ละรายการแสดงวันเวลาปิดประมูลไว้ ซึ่งที่ถูกต้องคือควรจะแสดงวันเวลาที่รายการสินค้าถูกลิสต์

เรียงลำดับการแสดงผลตามสินค้าใกล้ปิดการประมูล
ทดลองเรียงลำดับตามสินค้าใกล้ปิดประมูล ซึ่งมีการแสดงผลที่ถูกต้องดีแล้ว

เรียงลำดับตามสินค้ามาใหม่
กลับมาเรียงลำดับตามสินค้ามาใหม่อีกครั้ง สังเกตรูปสินค้าว่าต่างจากในตอนแรกเลย

การค้นหาสินค้าแบบพื้นฐานดูไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าใช้วิธีค้นหาแบบละเอียด จะพบความยุ่งยากคือคุณจะต้องระบุคำที่จะใช้ค้นหาและวิธีการค้นหาว่าจะค้นจากหัวข้อหรือชื่อสมาชิกด้วย ถ้าไม่ระบุก็จะไม่ยอมค้นให้ ต่างกับ eBay ที่ไม่จำเป็นต้องใส่คำค้นหาเลยด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการค้นหาสินค้าที่มาจากประเทศไทย ก็แค่ระบุ Location ว่าเป็น Thailand แล้วคลิก Search ได้เลย ไม่ต้องใส่คำค้นหรือชื่อของสินค้าก็ได้

มาดูที่การลงประกาศขายสินค้าบ้าง ในช่วงนี้สามารถลงประกาศขายได้ฟรี ใส่รูปได้ฟรี 6 รูป ตั้งเวลาลงประกาศขายสินค้าได้ฟรี จะมีเสียเงินก็คือการทำให้รายการสินค้าของคุณโดดเด่นขึ้น เช่น การทำไฮไลท์ให้หัวข้อสินค้า คิดเงิน 10 บาท การทำตัวหนาให้หัวข้อสินค้า 5 บาท และการสร้างกรอบให้รายการสินค้า 20 บาท/วัน

หัวข้อสินค้าสามารถใส่ข้อความได้ยาวถึง 300 ตัวอักษร เต็มอิ่มมากเมื่อเทียบกับ eBay ที่ให้ใส่ได้แค่ 55 ตัวอักษร

การระบุที่อยู่ของสินค้าจะต้องระบุให้ละเอียดในระดับเขต/อำเภอ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะต้องละเอียดขนาดนั้นไปทำไมเหมือนกัน วิธีการระบุจะต้องเลือกชื่อจังหวัดก่อน จากนั้นจะมีชื่อเขต/อำเภอขึ้นมาให้เลือก มีครบทั้ง 76 จังหวัดครับ เหมาะมากสำหรับคนที่จะเขียนโปรแกรมให้ผู้ใช้ใส่ที่อยู่ของตัวเอง ใครไม่รู้จะหาข้อมูลว่าจังหวัดไหนมีอำเภออะไรบ้าง ก็ลองมาหาที่นี่ดู

ผู้ขายสามารถเลือกระยะเวลาลงประกาศได้ยาวกว่าของ eBay คือมีให้เลือกตั้งแต่ 5 วัน 7 วัน 10 วัน และ 15 วัน ซึ่งดีกับผู้ขายที่ต้องการให้มีคนเข้ามาประมูลสินค้าของตัวเองได้นาน ช่วยเพิ่มโอกาสที่ราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็อาจจะไม่ดีสำหรับนักช็อปที่ต้องรอนานกว่าจะจบประมูล

สามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้สองแบบคือผ่าน S! Wallet และผ่านบัญชีธนาคาร น่าเสียดายที่สามารถระบุบัญชีธนาคารได้เพียงบัญชีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ขายมักจะมีหลายบัญชีเพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินให้กับลูกค้า

มีข้อมูลหลายอย่างที่ผู้ขายไม่จำเป็นต้องกรอกก็ได้ แต่ก็ถูกบังคับให้กรอก เช่น รูปภาพสินค้าที่สินค้าบางประเภทก็ไม่จำเป็นต้องใส่รูปภาพ หรือ counter นับจำนวนผู้เข้าชมที่ควรจะเป็น optional มากกว่า

หลังจากที่ระบุข้อมูลครบถ้วนแล้ว ผู้ขายสามารถ preview ประกาศสินค้าของตัวเองได้ มีอะไรไม่ถูกใจก็แก้ไข ถ้าถูกใจแล้วก็สั่งลิสต์ได้เลย เว็บจะมีการตรวจสอบคำหยาบและแจ้งเตือนถ้าพบ ซึ่งระบบตรวจสอบคำหยาบยังไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ อย่างประกาศสินค้าของผมก็ถูกตรวจพบว่ามีคำหยาบเพราะมีคำว่าระยะห่างอยู่ ทั้งที่คำนี้ไม่ใช่คำหยาบเลย แต่ผมก็ต้องตัดออกเพื่อให้สามารถลิสต์ประกาศเข้าไปได้

หลังจากที่ลิสต์สินค้าชิ้นแรกไปแล้ว ถ้าต้องการลิสต์ชิ้นที่สอง จะต้องไปเริ่มต้นใหม่ ต่างกับ eBay ที่สามารถใช้รายการสินค้าชิ้นแรกมาตั้งต้นเพื่อให้ผู้ขายปรับแต่งและลิสต์เป็นสินค้าชิ้นที่สองได้ง่ายขึ้น

ในตัวลิสต์สินค้ามีการจัดวางเหมือนกับ eBay ซึ่งดูง่ายสบายตา แต่ก็มีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ตรง counter นับจำนวนผู้เข้าชมซึ่งมีการนับซ้ำถ้าผู้ใช้สั่ง refresh ทำให้ตัวเลขอาจจะดูเยอะกว่าความเป็นจริง

และนี่คือลิสต์สินค้าชิ้นแรกของผมบน Sanook! eBay ครับ

http://shopping.sanook.com/buy/buy_detail.php?nitemID=4653

ผมตั้งขายแบบ Buy It Now ไว้ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะขายได้หรือเปล่า โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าที่นี่ยังมีจำนวนผู้ซื้อไม่ค่อยมาก ทำให้ Success Rate โดยรวมอาจจะอยู่ในระดับต่ำ เช่น มีรายการสินค้า 100 รายการ อาจจะมีสินค้าที่ขายออกไม่ถึง 10 รายการ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ ก็จะเกิดวงจรอุบาทว์ขึ้น นั่นก็คือเมื่อไม่มีผู้ซื้อ ผู้ขายก็จะไม่อยากเสียเวลาใช้บริการไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีนโยบายห้ามผู้ขายลงเบอร์โทรศัพท์ e-mail หรือทำลิงก์ไปยังเว็บไซต์ร้านค้า ผมว่าจุดนี้เป็นจุดที่ขัดกับความรู้สึกของคนไทยมากครับ แน่นอนว่า eBay ในอเมริกาสามารถสร้างนโยบายนี้ขึ้นมาได้เพราะเขาเป็นผู้กำหนดเกมตั้งแต่เริ่มแรก แต่สำหรับคนไทยแล้ว ผู้ที่กำหนดเกมคือเว็บ PantipMarket.com และ ThaiSecondHand.com ในเมื่อสองเว็บนี้เปิดให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันในระบบเปิดได้ ผู้ซื้อบางคนชอบที่จะพูดคุยกับผู้ขายทางโทรศัพท์มากกว่า ผู้ขายบางคนมีร้านค้าออนไลน์ของตัวเองและอยากสร้าง traffic เข้าไปที่ร้านมากกว่ามานั่งลิสต์สินค้าทีละชิ้น แต่พอมาเจอนโยบายนี้เข้าก็อาจจะรู้สึกไม่ชอบใจได้

ความท้าทายของ Sanook! eBay ในตอนนี้ก็คือการพยายามสร้างโมเมนตัมให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ต้องพยายามสร้างสมดุลของจำนวนผู้ขายและผู้ซื้อให้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าไม่มีผู้ขายก็ไม่มีผู้ซื้อ ถ้าไม่มีผู้ซื้อก็ไม่มีผู้ขาย กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันไป

ถ้าลองดูความสำเร็จของ eBay ในอเมริกา นอกจากการเป็น first mover แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้ eBay สร้างโมเมนตัมขึ้นมาได้ นั่นก็คือการทำ Affiliate Marketing โดยเปิดให้คนทั่วไปช่วยกันประชาสัมพันธ์ eBay ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อแลกกับรายได้ที่ eBay จะแบ่งให้

นอกจากนี้แล้ว eBay ยังมีกลุ่มสินค้าแปลกที่ทำให้เกิดการบอกต่อกัน และบางครั้งสื่อมวลชนก็ช่วยกระจายข่าวในวงกว้างอีกด้วย ทำให้ eBay กลายเป็นที่รู้จักได้โดยไม่ต้องเสียเงินประชาสัมพันธ์เลย สินค้าแปลกเหล่านี้เช่น ขนมปังปิ้งรูปพระเยซู หมากฝรั่งเคี้ยวแล้วของบริทนีย์ หรือแม้แต่อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลอังกฤษ เป็นต้น

กลับมาดูที่ Sanook! eBay ว่าถ้าจะตามรอย eBay ควรจะทำอย่างไร?

อย่างแรกคือการทำ Affiliate Marketing ซึ่งผมมองว่าพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง เพียงแต่ Sanook! eBay จะต้องเพิ่มวิธีการหารายได้ขึ้นมาก่อน คงจะไปคิดเงินค่าลงประกาศขายสินค้า (Insertion Fee) หรือคิดเปอร์เซ็นต์จากราคาปิด (Final Value Fee) แบบที่ eBay ทำไม่ได้ เพราะคู่แข่งของ Sanook! eBay ไม่มีใครคิดเงินแบบนี้ ที่ทำได้ก็คือการเพิ่ม Featured Plus! ที่ช่วยให้ประกาศสินค้าของผู้ขายติดอยู่ที่ด้านบนสุดของหน้าแสดงรายการสินค้า eBay ในอเมริกาคิดค่าบริการนี้ในราคา $19.95 ต่อ 7 วัน หรืออย่าง PantipMarket.com คิดค่าบริการแพงสุดอยู่ที่ 1,500 บาทต่อ 1 เดือน ผมมองว่าในช่วงแรกนี้ Sanook! eBay สามารถคิดค่าบริการนี้ได้ประมาณ 100 บาทต่อ 15 วัน (ยังคิดแพงมากไม่ได้เพราะคนเข้าเว็บยังไม่เยอะ) แล้วนำ 100 บาทนี้มาแบ่งให้กับผู้ที่ทำ Affiliate Marketing ที่ช่วยแนะนำผู้ขายที่ใช้ Featured Plus! เข้ามา

อย่างที่สองคือการทำ Viral Marketing ซึ่ง Sanook! eBay คงจะต้องสร้างพันธมิตรกับบรรดาคนเขียนบล็อกดังๆ ก่อน จากนั้น(ทีมงานของ Sanook! eBay)ก็ไปหาสินค้าแปลกๆ มาขาย อาจจะเป็นการเอาของใช้ดารามาประมูลเพื่อเข้าการกุศลก็ได้ หรือไม่ก็คิดหาสินค้าที่วิจิตรพิสดารมาขาย เมื่อมีสินค้าแปลกเกิดขึ้นในเว็บ ก็ส่งข่าวไปให้คนเขียนบล็อกช่วยเขียนถึงการประมูลสินค้าชิ้นนั้น ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสการบอกต่อในวงกว้างขึ้นได้

มีน้องคนหนึ่งที่เคยไปสัมภาษณ์งานกับ Sanook! eBay เล่าให้ผมฟังว่า ผู้สัมภาษณ์ถามว่า “คิดว่า Sanook! eBay จะ work มั้ย?” น้องคนนี้ตอบไปว่า “ไม่น่า work” ส่วนตัวผมก็คิดว่ามันยากจริงๆ ที่จะทำให้ work แต่อีกใจก็ลุ้นอยากให้ตลาดการประมูลออนไลน์เกิดในบ้านเราให้ได้ เพราะผมเชื่อว่าการประมูลช่วยให้สินค้าต่างๆ ค้นพบราคาที่เหมาะสมของตัวมันเอง

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

, , ,