เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2551 ผมมีโอกาสไปร่วมงาน Barcamp Bangkok ที่จัดโดย geek และมี geek มากกว่า 160 คนเข้าร่วมงาน
บางคนเรียกงานนี้ว่า Conference 2.0 และหลายคนก็เรียกมันว่า Un-conference ซึ่งแปลเป็นไทยว่างานสัมมนานอกกรอบ (แต่ผมเรียกว่า “อสัมมนา”)
ที่มันมีชื่อแบบนี้ก็เป็นเพราะว่างานนี้ไม่มีเจ้าภาพ มีแต่อาสาสมัครที่ร่วมมือกันจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา ไม่มีวิทยากรรับเชิญ มีแต่ผู้เข้าร่วมงานที่เชิญตัวเอง (อาสา) เข้าไปเป็นวิทยากร ไม่มีใครรู้ว่าจะมีหัวข้อบรรยายอะไรในงานบ้าง ทุกคนรู้แต่ว่ามันเจ๋งแน่ๆ และรอไปดูหัวข้อที่ผู้เข้าร่วมงานเสนอเอาตอนเริ่มงาน
ผมจะขอเล่าในเชิงเปรียบเทียบระหว่างงานสัมมนา 1.0 กับงานสัมมนา 2.0 ว่างานสองรูปแบบนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
Demand กำหนด Supply
ในงานสัมมนา 1.0 มักจะมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพอย่างชัดเจน เจ้าภาพเป็นผู้กำหนดธีมงานและหัวข้อสัมมนาขึ้นมา จากนั้นก็จะเชิญวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้หัวข้อนั้นๆ มาบรรยาย เจ้าภาพบางรายอาจจะเข้มงวดมากถึงขนาดให้วิทยากรส่งรายละเอียดหัวข้อที่จะบรรยายมาเพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าดูแล้วไม่เหมาะสม (ตามความรู้สึกของเจ้าภาพ ไม่ใช่ตามความรู้สึกของผู้เข้าร่วมสัมมนา) เจ้าภาพก็จะบอกให้วิทยากรปรับเปลี่ยนหัวข้อ ซึ่งวิทยากรก็จะเซ็งและมักจะแย้งว่าเจ้าภาพรู้ได้อย่างไรว่าหัวข้อนี้ไม่เหมาะกับผู้ฟัง (ผมเป็นมาแล้วครับ แต่ก็ได้แต่แย้งในใจและยอมปรับหัวข้อตามที่เจ้าภาพต้องการ)
ขณะที่งานสัมมนา 2.0 นั้นไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีการกำหนดหัวข้อ อย่างเช่นงาน Barcamp Bangkok ที่ดูเหมือนจะเป็นงานสำหรับ geek มาพูดแต่เรื่องไอทียากๆ แต่ปรากฎว่าเอาเข้าจริงก็มีหัวข้อที่ไม่เกี่ยวกับไอทีเลยอย่างเช่นเรื่องการปีนเขาอยู่ด้วย หัวข้อที่มีการบรรยายในงานเกิดจากผู้เข้าร่วมงานที่ไปถึงงานแล้วมีเรื่องอะไรที่อยากพูด ก็เขียนหัวข้อของตัวเองลงในกระดาษแล้วนำไปติดไว้ที่ผนัง จากนั้นผู้เข้าร่วมงานคนอื่นๆ ก็จะไปดูว่าตนเองสนใจหัวข้อไหนบ้าง แล้วจะติ๊กให้คะแนนกับหัวข้อนั้น หัวข้อที่ได้รับคะแนนมากๆ จะถูกบรรจุลงในห้องและช่วงเวลาต่างๆ เพื่อให้เลือกเข้าไปฟังได้ ส่วนหัวข้อที่ได้รับคะแนนน้อย ผู้เสนอหัวข้อก็ต้องทำใจว่าหัวข้อของตัวเองดีแล้ว แต่ยังดีไม่พอสำหรับ… เอ่อ ไม่ใช่สิ ต้องทำใจว่าหัวข้อของตัวเองอาจไม่เป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมงานนัก งานสัมมนา 2.0 จึงเป็นงานที่ Demand เป็นผู้กำหนด Supply จริงๆ
ความเหมือนที่แตกต่างของการ Maximize Customer Value
ในงานสัมมนา 1.0 นั้น เป้าหมายเชิงธุรกิจมักจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้จัดงาน
งานสัมมนาหลายงานใช้วิธีขายหลักสูตรให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งก็เป็นวิธีการขายความรู้กันแบบตรงไปตรงมา ราคาขึ้นอยู่กับหัวข้อว่าน่าสนใจแค่ไหน และจำนวนวันที่มีการจัดสัมมนา มีตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท
งานสัมมนาบางงานใช้วิธีขายบูธเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสัมมนา และเปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าฟังได้ฟรีๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แลกกับการที่ผู้เข้าร่วมงานจะต้องดูบูธของสปอนเซอร์ต่างๆ ที่มาออกงาน บางทีสปอนเซอร์ก็จะได้เวลาช่วงหนึ่งของการสัมมนาเพื่อพูดแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย นี่ก็เหมือนโมเดลการใช้บริการเว็บไซต์ได้ฟรีโดยแลกกับการดูโฆษณานั่นเอง
ส่วนงานสัมมนา 2.0 อย่าง Barcamp Bangkok นั้นก็เปิดให้เข้าร่วมงานได้ฟรีโดยมีสปอนเซอร์สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ แต่ต่างกันตรงที่สปอนเซอร์ไม่สามารถยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองอยากพูดเข้ามาได้ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้เข้าร่วมงานจะเป็นผู้บอกว่าพวกเขาอยากฟังอะไร แต่ถ้าสปอนเซอร์มาพร้อมกับหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้เข้าร่วมงานเอง
ถึงจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างสัมมนา 1.0 และ 2.0 ก็คือการพยายามทำให้ลูกค้าตัวจริงซึ่งก็คือผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับความรู้มากที่สุด
เวทีค้นฟ้าคว้าดาว
ในการไปร่วมงาน Barcamp ในครั้งนี้ หลายคนเข้ามาทักทายผมเพราะติดตามอ่านบล็อกผมอยู่เป็นประจำ แต่อีกบทบาทหนึ่งในวงการเว็บที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือผมเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยด้วย (เพิ่งเข้าไปเป็น) และผมตั้งใจว่าจะไปแนะนำโครงการหนึ่งของสมาคมที่ร่วมกับ SIPA ให้กับบรรดา geek ได้รับรู้
โครงการนี้มีชื่อยาวๆ ว่า Open Source Web Developer Promotion Program ซึ่งเป็นโครงการที่จะส่งเสริมให้เกิดชุมชนนักพัฒนาเว็บที่แข็งแกร่ง โดยจะมีการให้ทุนเพื่อส่งตัวแทนไปเข้าร่วมสัมมนาในต่างประเทศได้แก่ Web 2.0 Expo, MySQL Conference, Zend Conference และ Open Source Convention เมื่อกลับมาแล้วก็นำความรู้ที่ได้รับมาเขียนลงบล็อก รวมถึงบรรยายในงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นในไทยเพื่อเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีการสั่งซื้อหนังสือด้านการพัฒนาเว็บจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้หยิบยืมไปอ่านได้ (โครงการนี้ยังเป็นแค่แผนที่รอการอนุมัติงบอยู่นะครับ ขอให้ได้งบเร็วๆ ด้วยเถิด สาธุ)
ความเสี่ยงหนึ่งของโครงการนี้ที่ผมกังวลก็คือเราจะหาตัวแทนที่จะส่งไปสัมมนาเมืองนอกไม่ได้ เราอาจจะหาคนที่เชี่ยวชาญทางเทคนิคได้ แต่คนเหล่านั้นอาจจะไม่ถนัดในการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมา
แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมงาน Barcamp แล้ว ความกังวลนี้ก็ลดลง ใครว่า geek สื่อสารกับคนอื่นไม่เป็น?
ในงานสัมมนารูปแบบ 1.0 ที่มีวิทยากรเพียงไม่กี่คน คนที่เป็นดาวของงานก็คือวิทยากร สังเกตดูได้ว่าหลังจากวิทยากรพูดจบ มักจะมีคนฟังเข้าไปรุมล้อมเพื่อสอบถามรายละเอียดของการบรรยาย วิทยากรบางคนมีแฟนคลับที่ตามไปฟังกันทุกงานเลยด้วยนะ
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่นั่งฟังอยู่จะไม่มีใครเก่ง ไม่มีใครเป็นดาวเลย บางคนอาจจะเก่งกว่าวิทยากรด้วยซ้ำ แต่เพียงเพราะใต้เท้าของเขาไม่มีเวที ในมือของเขาไม่มีไมโครโฟน เราก็เลยไม่รู้ว่าเขาเก่ง
ขณะที่งานสัมมนา 2.0 จะเปิดโอกาสให้คนเก่งเงียบเหล่านี้มีโอกาสเปล่งประกายมากขึ้น มีเวทีให้เขายืน มีไมโครโฟนให้เขาถือ และมีคนมานั่งฟังเขาพูด ผมเลยได้เห็นคนเก่งๆ จากงานนี้หลายคนที่น่าจะให้เป็นตัวแทนไปสัมมนาเมืองนอกและนำความรู้กลับมาถ่ายทอดให้คนไทยฟัง
นอกจากผมที่ไปทำตัวเป็นแมวมองในงาน Barcamp แล้ว ยังมีเฮดฮันเตอร์ไปร่วมงานอีกหลายคนครับ คนเหล่านี้ไปมองหาคนไอทีเก่งๆ เพื่อจะป้อนงานหรือตำแหน่งงานด้านไอทีให้
การบรรยาย 2.0
ถึงแม้ว่า Barcamp จะเป็นงานสัมมนา 2.0 แต่การบรรยายในแต่ละ session ของงานส่วนมากก็ยังเป็นรูปแบบ 1.0 อยู่ คือผู้พูดก็พูดไป ผู้ฟังก็ฟังไป บาง session ก็ดีหน่อยตรงที่ผู้ฟังมีส่วนร่วมบ้างในตอนท้ายด้วยการยกมือถามผู้พูด
แต่มีอยู่หนึ่ง session ที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นการบรรยายแบบ 2.0 จริงๆ ก็คือ AV (Adult Video) Development Life Cycle ซึ่งบรรยายโดย Hunt, Keng และ Sugree ที่แทบไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะผู้ฟังช่วยพูดหมดเลย

ผู้บรรยายทั้งสามกำลังพูดในหัวข้อ AV Development Life Cycle อย่างร่าเริง (รูปโดย Plynoi)

ผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม
อาจจะเป็นเพราะว่าหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีในหมู่ผู้ฟังอยู่แล้ว (แต่ผมไม่รู้จริงๆ นะ มิยาบิอะไรนี่ไม่รู้จักเลย) แต่ละคนเลยมีส่วนร่วมกันอย่างเต็มที่ ซึ่งประเด็นก็ขยายไปถึงเรื่องของศีลธรรมและความเหมาะสมต่างๆ
บทสรุป
สิ่งที่งานสัมมนา 2.0 ทำให้เกิดขึ้นก็คือการสนับสนุนให้คนไทยที่มีนิสัยขี้อายรู้จักการมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดองค์ความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่ ความรู้ไม่ควรถูกเก็บไว้ในสมองอย่างเดียว แต่มันควรถูกถ่ายทอดผ่านปากออกมาสู่สมองคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้ระดับความรู้เฉลี่ยของชุมชนเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นชุมชนอุดมปัญญาในที่สุด
งาน Barcamp Bangkok จบลงอย่างน่าประทับใจ และงานแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาด “คุณ”
ดูรูปบรรยากาศในงานทั้งหมดที่ Flickr