ในยุคของ Web 2.0 ที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้างเนื้อหา (User-generated content) ผู้ใช้หลายคนได้สร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาบนโลกออนไลน์ อัตลักษณ์นี้มาในรูปแบบของนามแฝงที่ถูกใช้เพื่อให้ผู้อื่นจดจำได้ และมีเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเป็นตัวบ่งบอกภาพลักษณ์และตัวตนของนามแฝงนั้นๆ เนื้อหาเหล่านี้อาจจะเป็นความคิดเห็นตามกระทู้ต่างๆ (เช่น “เข้ามาดู” ของ Mr. Fusion จากพันทิป) รูปภาพสวยๆ ของช่างกล้องสมัครเล่นที่อวดผลงานใน Multiply หรือบล็อกที่ถ่ายทอดความคิดต่างๆ ของผู้เขียนออกมา
เราสามารถเรียกนามแฝงและภาพลักษณ์ตัวตนของนามแฝงรวมๆ กันว่า “แบรนด์”
ใช่แล้วครับ แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อสินค้าเท่านั้น แต่สามารถเป็นสิ่งที่บรรยายลักษณะตัวตนของคุณได้ด้วย
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าผมใช้นามแฝง MacroArt บนโลกออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งผมก็ไม่เคยคิดว่ามันเป็นแบรนด์หรอก แต่วันหนึ่งมีคนที่รู้จักผมมานานหลายปีบอกกับผมว่า “MacroArt คือแบรนด์”
ผมมานั่งนึกดูก็เห็นด้วย เลยอยากจะขอเล่าถึงที่มาของแบรนด์นี้สักหน่อย
ในปี 2540 เป็นปีที่ผมติดเล่นพันทิปมากๆ ตอนนั้นชุมชนในพันทิปเป็นชุมชนขนาดเล็ก เหมือนหมู่บ้านในชนบทที่ทุกคนในหมู่บ้านรู้จักกันหมด ผมใช้ชื่อจริงของผมคือ “อภิศิลป์” ในการตอบกระทู้ คนในเว็บก็จะจดจำผมได้ในชื่อนี้
ต่อมาเริ่มมีตัวป่วนเข้ามาในเว็บ แล้วตัวป่วนเกิดอาการหมั่นไส้ผม เลยสวมรอยชื่อผมไปด่าคนอื่น (ตอนนั้นพันทิปยังไม่มีระบบสมาชิกอมยิ้ม) ซึ่งผมซีเรียสว่าไม่ควรจะสวมรอยชื่อจริงผม หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจเลิกใช้ชื่ออภิศิลป์ และพยายามคิดหานามแฝงมาใช้แทนชื่อจริง
การตั้งนามแฝงให้กับตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะผมเป็นพวกสเป็กสูง อยากได้ชื่อที่มันฟังดูเท่ ดูมีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำคนอื่น มีความหมายที่ดี มีที่มาที่ไป สามารถอธิบายได้ ฯลฯ
ผมเดินวนในบ้านเพื่อคิดถึงชื่อที่เหมาะสม ตอนแรกคิดแบบสะเปะสะปะ ไม่มีหลักยึดอะไร แต่ก็ไม่ได้ชื่อที่ดีสักที ต่อมาก็เลยเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มจากการคิดว่าผมชอบอะไรบ้าง เพื่อจะหาชื่อที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ผมชอบ
ตอนนั้นผมค่อนข้างชื่นชอบ Bill Gates ครับ เรียกว่าเป็นฮีโร่ที่สักวันหนึ่งตัวเองอยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง ผมนึกถึงชื่อ Bill แล้วแปลงมาเป็น Boy ซึ่งเป็นชื่อเล่นผม… หรือจะเป็น Boy Gates เหรอ… ไม่เอาดีกว่า ฟังดูตลกเลียนแบบชอบกล
ผมเริ่มคิดถึงบริษัทชื่อ Microsoft ซึ่งตอนนั้นมีโจ๊กชื่อไทยของศัพท์ไอที มีคนแปล Microsoft ว่า “จิ๋วระทวย” ฟังแล้วขำดีเพราะมันดันไปพ้องกับฉายาของผู้นำประเทศในยุคนั้นด้วย ผมพยายามคิดว่าจะเอาชื่อ Microsoft มาเชื่อมโยงกับชื่อนามแฝงที่ผมจะใช้ยังไงดี ที่แน่ๆ คือผมไม่ชอบคำว่า Micro เพราะมันแปลว่าจิ๋ว ผมไม่อยากจิ๋ว ก็เลยนึกถึงคำว่า Macro ขึ้นมา… Macro แปลว่าใหญ่ มหึมา มโหฬาร มหภาค อภิมหา… อภิ… เอ๊ะ เหมือนมันจะเชื่อมโยงเข้ากับชื่ออภิศิลป์ได้เลยนะ งั้นถ้าแปลคำว่า “ศิลป์” เป็นภาษาอังกฤษก็คือ Art รวมกันเป็น MacroArt
โห… ฟังดูเท่ว่ะ คิดได้ไงวะเนี่ย
หลังจากนั้นผมก็ใช้ชื่อ MacroArt เป็นนามแฝงออนไลน์มาตลอดสิบกว่าปี
ที่ผ่านมาก็มีปัญหากับนามแฝงนี้อยู่บ้างครับ อย่างแรกก็คือบางคนชอบสะกดเป็น MicroArt อย่างที่สองคือบางคนคิดว่าชื่อเล่นผมชื่ออาร์ต จริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ ผมชื่อบอย
รู้ที่มาของนามแฝงไปแล้ว ทีนี้มาดูเรื่องภาพลักษณ์ตัวตนของนามแฝงนี้บ้าง
แบรนด์เป็นเรื่องที่คนภายนอกมองเข้ามาเห็น เขาเห็นอะไร? รู้สึกอย่างไร? คิดว่าแบรนด์นี้มีลักษณะทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมอย่างไร? วิธีการที่จะรู้ว่าคนอื่นมองเห็นว่าตัวเราเป็นอย่างไรก็คือต้องสังเกตวิธีการที่เขาทำความรู้จักเรา หลายครั้งที่ผมได้รู้จักกับคนแปลกหน้าที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เขากลับรู้จักผม ผมก็มักจะได้ยินคำถามว่า
“MacroArt ที่ทำเว็บส่งเพจใช่มั้ยครับ?” – เดาได้เลยว่าคนถามต้องอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป อาจจะอยู่ราวๆ 30 เลยด้วยซ้ำ เพราะเพจเจอร์เป็นอุปกรณ์สื่อสารยอดฮิตเมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งคนที่เป็นนักศึกษาในยุคนั้นจะใช้กันมาก
“MacroArt ที่เขียนเว็บพันทิปใช่มั้ยคะ?” – แสดงว่าเป็นขาประจำพันทิปตั้งแต่ยุคแรกๆ
“MacroArt ที่ทำเว็บไทยรัฐบน Palm ใช่มั้ยครับ?” – คนถามคงเคยใช้ Palm มาตั้งแต่ยุคที่ Pocket PC ยังไม่ครองตลาดแน่ๆ
“MacroArt ที่เขียนบล็อกด้านธุรกิจและการตลาดใช่มั้ยคะ?” – อันนี้ยุคปัจจุบันแล้วครับ
คำถามเหล่านี้ทำให้ผมรู้ว่านามแฝง MacroArt มี awareness จากคนอื่นยังไง ซึ่งมันก็ช่วยให้ผมเปิดบทสนทนาต่อไปได้อีก เช่น ถ้าถามว่าเป็นคนเขียนพันทิปใช่มั้ย? ผมก็จะตอบว่าใช่ครับ เป็นขาประจำพันทิปเหรอครับ?
ในทางกลับกัน เวลาที่ผมได้เจอหน้าคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่ผมรู้จักนามแฝงและตัวตนของนามแฝงนั้น ผมก็จะทักไปว่า “คุณ … ที่เล่นเว็บ … ใช่มั้ยครับ?”
(เขียนถึงตรงนี้แล้วปิ๊งแว้บขึ้นมาว่าน่าจะมีเว็บที่เปิดให้เพื่อนเราเข้ามาใส่ keyword ที่เขามองว่าเราเป็นคนยังไงได้ เช่น อาจจะมีคนเข้ามาใส่คีย์เวิร์ดให้ผมว่า “โปรแกรมเมอร์ ไอที การตลาด” ก็จะทำให้ผมรู้ว่าคนอื่นมองเห็นผมอย่างไร และถ้า keyword คำไหนที่ถูกคนอื่นใส่เข้ามาเยอะๆ นั่นแปลว่าคนส่วนใหญ่มองว่าเราเป็นคนแบบ keyword นั้น)
ต่อครับ… ทีนี้ผมก็เลยลองมานั่งนึกถึงนามแฝงที่ผมรู้จักบนโลกออนไลน์ บางนามแฝงผมก็รู้จักแบบลางเลือนเหลือเกิน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่านามแฝงนั้นขาดเอกลักษณ์ หรือผมอาจจะไม่ค่อยได้ติดตามภาพลักษณ์ตัวตนที่นามแฝงนั้นสร้างขึ้น แต่บางนามแฝงก็เป็นแบรนด์ที่โดดเด่นและชัดเจนในความรู้สึกของผมมาก ยกตัวอย่างเช่น
Mr. PeeTai – Developer อาวุโสที่เชี่ยวชาญทั้งภาพกว้างและรายละเอียดของระบบซอฟต์แวร์
Hunt – Web Developer ที่มีผลงานสร้างชื่อตั้งแต่ยังเรียนมัธยม
โซวบักท้ง – เซียน SEO ที่มีรายได้เดือนละเจ็ดหลักโดยมีลูกจ้างศูนย์คน
Trawut – เซียน Affiliate Marketing ที่คนต้องจ่ายเงิน 5,000 บาทเข้าไปฟังเทคนิคใต้ดิน
Pawoot – เจ้าพ่อการตลาดนอกกรอบ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน
iannnnn – คนทำเว็บรวมฟอนต์ให้โหลดกันฟรี
คนชายขอบ -นักคิดนักเขียนที่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และมีสำนวนการเขียนแบบมืออาชีพ
จิตร์ทัศน์ – ปรมาจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ยากๆ ตัวแทนโอลิมปิกคอมพิวเตอร์เหรียญทองคนแรกของไทย
Sugree – Geek & AV Specialist
นี่คือภาพลักษณ์ที่ผมมองเห็นว่าบุคคลท่านเหล่านี้เป็น ซึ่งแน่นอนว่าคนอื่นอาจจะมองต่างไปจากนี้ก็ได้ และเจ้าตัวก็อาจจะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นหรือไม่อยากเป็นแบบที่ผมมองเห็นก็ได้ แต่นี่แหละครับคือแบรนด์
ผมเองก็ไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่มองภาพของแบรนด์ MacroArt ว่าเป็นยังไง เป็นนักพัฒนาเว็บ? เป็นคนเขียนบล็อกด้านธุรกิจดอทคอม? เป็นวิทยากรด้านอีคอมเมิร์ซ? เป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจออนไลน์?
ไม่ว่าตอนนี้แบรนด์ MacroArt จะมีภาพลักษณ์ยังไงก็ตาม แต่ผมก็มีภาพของแบรนด์ MacroArt ในอนาคตที่ผมอยากเห็นมันเป็น…
MacroArt คือแบรนด์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมบนโลกออนไลน์