มหัศจรรย์แผนที่ออนไลน์บนฝ่ามือ ฉบับ Google Maps บน Pocket PC

ใช้งานให้คุ้ม! กับ Pocket PC ของคุณ

เจาะลึก แผนที่อัจฉริยะออนไลน์ที่ดีที่สุดในโลก

พิเศษ! พร้อมรวมพิกัดสถานที่สำคัญในไทย เช่น สนามบิน โรงพยาบาล วัด สถานปฏิบัติธรรม และรายชื่อ 76 จังหวัดที่ใช้ค้นหาใน Maps ได้ง่ายและสะดวกที่สุด

ปกหน้า มหัศจรรย์แผนที่ออนไลน์บนฝ่ามือ ฉบับ Google Maps บน Pocket PC

มหัศจรรย์แผนที่ออนไลน์บนฝ่ามือ ฉบับ Google Maps บน Pocket PC

เข้าใจง่าย ใช้งานได้จริง พร้อมต่อยอดได้อีกมหาศาล

ด้วยเนื้อหา อาทิ… หาหลังคาบ้านของตัวเองให้เจอพร้อมปักหมุด หาเส้นทางขับรถ วางแผนการเดินทางด้วยตนเอง การใช้งานร่วมกับ GPS และเคล็ดลับการใช้งานอีกมากมายที่คุณจะต้องทึ่ง… และอาจไม่เคยรู้มาก่อน!

เขียนโดย อภิศิลป์ ตรุงกานนท์

ผู้เขียนหนังสือขายดี มหัศจรรย์แผนที่ออนไลน์

คำนำ

ผมใช้ PDA (Personal Digital Assistant) เครื่องแรกตั้งแต่ปี 2542 ในยุคนั้นคนนิยมเรียกเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือที่เน้นการใช้งานเสมือนเป็นสมุดออแกไนเซอร์เป็นหลักว่า Palm ซึ่งในปัจจุบันนี้ Palm ได้ตายไปจากกระแสหลักแล้ว และมี Pocket PC จากค่าย Microsoft ขึ้นมาแทนที่

PDA ในยุคก่อนถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานทดแทนกระดาษ มีโปรแกรม Address Book ใช้แทนนามบัตรและสมุดจดรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์เพื่อน โปรแกรม Calendar ใช้แทนสมุดปฏิทินนัดหมาย โปรแกรม To-do List ใช้แทนกระดาษ Post-it ที่ติดบนจอคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรม Memo ที่ใช้แทนกระดาษโน้ตใบเล็กๆ เอาไว้จดโน้ตย่อขณะคุยโทรศัพท์

ด้วยความที่ผมอยากให้ PDA เป็นมากกว่าออแกไนเซอร์ ผมอยากให้มันเป็นคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เพื่อที่ผมจะได้อ่านเว็บขณะที่นอนอยู่บนเตียงผ้าใบริมชายทะเล หรือเล่นแชทขณะที่อยู่บนรถทัวร์ออกสู่ต่างจังหวัด แต่ PDA ในยุคนั้นไม่มีช่องเสียบซิมการ์ดเหมือนในสมัยนี้หรอกครับ และก็ไม่สามารถต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตไร้สายได้ด้วย สิ่งที่ทำได้ก็คือการหาสายเคเบิ้ลมาต่อ PDA เข้ากับโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้โทรศัพท์มือถือเป็นโมเด็มในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต นึกภาพแล้วก็รู้สึกเกะกะพอสมควร มือซ้ายถือ PDA มือขวาถือ Stylus มีสายต่อจาก PDA ไปยังโทรศัพท์มือถือที่วางอยู่บนตัก

PDA ในสมัยนี้ไฮเทคมากขึ้น มีช่องใส่ซิมการ์ด หรือไม่ก็สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไร้สายได้ ทำให้สามารถเล่นเว็บหรือส่งอีเมลโดยใช้ PDA ได้ แต่ไม่บ่อยหรอกครับที่คุณจะใช้ PDA ต่ออินเทอร์เน็ต อย่างมากก็แค่ใช้เช็คอีเมลที่เป็นงานเร่งด่วน แต่คงไม่ถึงขนาดเอา PDA มาเล่นเว็บอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ระหว่างการเดินทางจาก PDA ยุคเก่าสู่ยุคใหม่ ในโลกของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นหลายอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือการเปิดตัวโปรแกรม Google Earth ในปี 2547 โปรแกรมที่ช่วยให้คุณมองเห็นภาพของโลกที่คุณอาศัยอยู่ปรากฎบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และช่วยให้คุณซูมลงไปบนโลกเพื่อมองหาหลังคาบ้านตัวเองได้

การจะใช้โปรแกรม Google Earth ได้นั้นจะต้องดาวน์โหลดไฟล์ที่มีขนาดมากกว่า 10 เมกะไบต์มาติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณก่อน และโปรแกรมนี้ค่อนข้างสิ้นเปลืองทรัพยากรของคอมพิวเตอร์ ถ้าเครื่องไม่แรงพอ อาจจะต้องใช้เวลาโหลดโปรแกรมนานเป็นนาทีเลยก็ได้ บางทีแค่ต้องการหาว่าอาคารสำนักงานของลูกค้าที่กำลังจะไปหาอยู่ตรงไหน แต่ต้องมานั่งรอโปรแกรมโหลดเป็นนาทีก็ไม่ไหวเหมือนกัน

Google จึงมีบริการอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Google Maps บริการนี้มีความสามารถหลักคล้ายกับ Google Earth คือสามารถดูภาพถ่ายดาวเทียมที่มองเห็นหลังคาบ้านได้ และยังมีแผนที่ถนนที่ละเอียดยิบเหมือนกับแผนที่แผ่นพับที่วางขายตามร้านหนังสือเลย แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ Google Maps ไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมขนาดใหญ่มาติดตั้ง ไม่ต้องเสียเวลาโหลดโปรแกรมขึ้นมาเพื่อใช้งาน เพียงแค่เปิดเว็บบราวเซอร์ที่คุณใช้งานเป็นประจำ เข้าเว็บไซต์ Google Maps แค่นี้ก็สามารถดูแผนที่และสถานที่ต่างๆ ได้ทั่วโลกแล้ว

ในช่วงแรก Google Maps ไม่ใช่บริการที่น่าตื่นเต้นอะไรนักสำหรับคนไทยรวมถึงผมด้วย เพราะในเว็บไซต์ Google Maps ยังไม่มีข้อมูลแผนที่ประเทศไทย มีแต่เพียงภาพถ่ายดาวเทียมของประเทศไทย ซึ่งผมก็เคยเห็นในโปรแกรม Google Earth ไปแล้ว จึงไม่รู้สึกว่ามีอะไรแปลกใหม่

จนในวันที่ 26 เมษายน 2550 Google ประกาศในเว็บบล็อกว่าได้เพิ่มข้อมูลแผนที่ของประเทศไทยลงใน Google Maps แล้ว ผมเห็นแล้วรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาทันที เพราะภาพที่เห็นคือถนนตรอกซอกซอยในทุกจังหวัดของประเทศไทยที่ละเอียดมาก และสามารถสั่งให้ Google Maps แนะนำเส้นทางขับรถได้ด้วยว่าถ้าผมต้องการไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ผมควรจะวิ่งไปทางไหน ใช้ถนนเส้นไหนบ้าง หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยใช้ Google Earth อีกเลย และ Google Maps ก็กลายเป็นเว็บที่ผมเข้าประจำเวลาที่จะต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งต่อมาผมก็ได้เขียนหนังสือชื่อ Google Maps มหัศจรรย์แผนที่ออนไลน์ เพื่อแนะนำวิธีการใช้งาน Google Maps ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มีอยู่วันหนึ่งที่ผมใช้ Google Maps เพื่อหาเส้นทางขับรถ ผมสั่งพิมพ์เส้นทางนั้นออกมาเป็นกระดาษเพื่อใช้ดูระหว่างการเดินทาง ผมสังเกตเห็นข้อความที่ถูกพิมพ์ออกมาพร้อมกับแผนที่เส้นทางมีเนื้อความว่า “ใช้ Google Maps บนอุปกรณ์มือถือของคุณเพื่อช่วยลดการใช้งานกระดาษและลดภาวะโลกร้อน” ผมถึงได้รู้ว่ามีโปรแกรม Google Maps ให้ใช้บน PDA ได้ด้วย

ผมลองโหลดโปรแกรมมาใช้ดู และพบว่ามันเป็นโปรแกรมที่น่าประทับใจมาก ผมไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ถึงจะเปิดดูแผนที่ได้ เพียงแค่มี PDA ที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ไม่ว่าจะผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายหรือผ่าน GPRS/EDGE บนระบบโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะอยู่บนท้องถนนที่ไหนก็เปิดดูแผนที่ได้

นอกจากนี้ Google Maps ยังเป็นโปรแกรมที่ใช้ทดแทนกระดาษได้เหมือนกับโปรแกรมพื้นฐานของ PDA

แต่กระดาษที่ว่านี้คือแผนที่ท้องถนนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แผนที่นี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่มหาศาล แต่มีขนาดเล็กเพียงฝ่ามือเดียว

แถมยังฉลาดขนาดที่สามารถแนะนำเส้นทางขับรถให้ได้ด้วย

แบบนี้ไม่เรียกว่าแผนที่อัจฉริยะก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้วครับ

อภิศิลป์ ตรุงกานนท์
http://blog.macroart.net

สารบัญ

  • การติดตั้ง Google Maps บน Windows Mobile Pocket PC
  • หาหลังคาบ้านของตัวเองให้เจอ
  • ค้นหาด้วยพิกัด
  • บันทึกพิกัดของบ้านตัวเอง
  • หาพิกัดของสถานที่ด้วย maps.google.com
  • ระบุตำแหน่งปัจจุบันด้วย GPS
  • หาเส้นทางขับรถโดยระบุพิกัด
  • หาเส้นทางขับรถด้วยการปักหมุด
  • หาเส้นทางขับรถด้วยการระบุพิกัดและการปักหมุด
  • ย้ายตำแหน่งหมุดเพื่อหาเส้นทางใหม่
  • หาเส้นทางขับรถโดยใช้ GPS
  • ความสามารถของ Google Maps ที่ใช้ได้ในอเมริกา
  • ภาคผนวก ก – รายชื่อ 76 จังหวัดทั่วไทยที่ใช้ค้นหาใน Maps ได้
  • ภาคผนวก ข – รวมพิกัดของสถานีขนส่งผู้โดยสาร
  • ภาคผนวก ค – รวมพิกัดของท่าอากาศยาน
  • ภาคผนวก ง – รวมพิกัดของสถานีรถไฟ
  • ภาคผนวก จ – รวมพิกัดของสถานีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
  • ภาคผนวก ฉ – รวมพิกัดของโรงพยาบาล
  • ภาคผนวก ช – รวมพิกัดของวัดและสถานปฏิบัติธรรม

การซื้อหนังสือ

ซื้อได้จากร้านซีเอ็ด และร้านหนังสือชั้นนำ

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •