จบไปแล้วสำหรับงานจิบกาแฟคนทำเว็บครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 20 ท่าน มีทั้งเว็บมาสเตอร์หน้าเก่าหน้าใหม่และผู้ใช้เว็บทั่วไป
ประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงในงานนี้ก็คือ Web 2.0 ซึ่งสื่อกระแสหลักกำลังให้ความสนใจ นิตยสาร Positioning ฉบับเดือนมีนาคมเจาะลึกเรื่องราวของ Hi5 ซึ่งเป็นเว็บ Social Network ชื่อดัง รายการชีพจรโลกเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็พูดถึงเรื่อง Web 2.0 ว่ามันอยู่รอบตัวเราแล้ว
ส่วนประเด็นที่คุยกันในงานจิบกาแฟก็ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งมุมมองจากฝั่งที่ทำเว็บเพื่อให้มีรายได้ กับฝั่งที่ทำเว็บเพราะความถนัดและมีใจรักแล้วรายได้จะตามมาทีหลัง ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าฟังทั้งสองฝั่ง
แต่ผมอยากจะหยิบประเด็นหนึ่งขึ้นมาซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อวงการเว็บไทยอย่างมาก โดยเฉพาะกับ Web 2.0 ที่ใช้หลัก User-generated content ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถส่งข้อมูลเข้ามาที่เว็บไซต์ได้ เรื่องนี้มีประเด็นสำคัญอยู่สองประเด็น
ประเด็นแรกก็คือเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งได้ประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 โดยมีระยะเวลาผ่อนผันให้หนึ่งปี นั่นแปลว่าวันที่ 21 สิงหาคม 2551 กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้จริง
ผมขอยกตัวอย่างมาให้ดูหนึ่งมาตรา
มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
แปลเป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ก็คือถ้ามีผู้ใช้มือบอนเข้ามาในเว็บของคุณเพื่อเขียนข้อความแกล้งคนอื่น ถ้าคนที่ถูกแกล้งไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วตำรวจมาขอ log file จากคุณซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ ถ้าคุณไม่มีข้อมูลให้ คุณจะมีโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันอาจจะซับซ้อนกว่านั้นครับ มันมีความเป็นไปได้ที่จะมีขบวนการรีดไถเงินโดยมีตำรวจอยู่ในขบวนการนี้ด้วย สมมุติว่านางสาวเอเอาเบอร์โทรศัพท์ของตัวเองไปโพสต์ในเว็บ xxx.com พร้อมกับข้อความว่า “เหงาจัง” จากนั้นนางสาวเอก็ไปแจ้งความกับตำรวจที่อยู่ในขบวนการว่าถูกคนกลั่นแกล้งเอาเบอร์โทรศัพท์ไปโพสต์ในเว็บไซต์ พร้อมกับแสดงหลักฐานหน้าจอเว็บที่ capture มา ตำรวจจึงติดต่อไปที่เจ้าของเว็บไซต์เพื่อขอ log file ปรากฎว่าเจ้าของเว็บไซต์ไม่มีให้ คราวนี้ตำรวจก็จะบอกว่าเจ้าของเว็บไซต์มีความผิดที่ไม่เก็บ log file ไว้ ถ้าเรื่องถึงศาลก็อาจจะถูกปรับถึงห้าแสนบาท แต่ถ้าอยากให้เรื่องจบก็จ่ายหนึ่งแสนบาทตอนนี้เลย
ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นแค่เหตุการณ์สมมุติที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นจริง แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะได้เห็นการเชือดไก่ให้ลิงดูก็ได้ครับ ถ้าไม่อยากเป็นไก่ ขอให้ศึกษา พ.ร.บ. นี้อย่างละเอียด
ประเด็นที่สองซึ่งต่อเนื่องมาจากประเด็นแรกก็คือเจ้าของเว็บควรสร้างความตระหนักต่อกฎหมายนี้ให้ผู้ใช้เว็บได้รับรู้ด้วย ผู้ใช้จำนวนมากคิดว่าตัวเองสามารถโพสต์อะไรบนอินเทอร์เน็ตก็ได้ ไม่มีทางสืบหาตัวจริง บางคนก็อาจจะใช้ Anonymous Proxy เวลาที่จะโพสต์ข้อความ โดยที่ไม่รู้ว่าทาง ISP ได้เก็บบันทึกการเรียก Proxy เอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้ใช้ไม่มีเจตนาจะทำไม่ดี แต่ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่ามันเป็นความผิด เช่น ได้รับ forward mail มาจากเพื่อนที่มีเนื้อหาตำหนิร้านอาหารแห่งหนึ่งว่าสกปรก มีแมลงสาบอยู่ในอาหาร และมีรูปประกอบให้เห็นกันชัดๆ พอเห็นแบบนี้ก็เลยหวังดีอยากช่วยเตือนคนอื่น เลยเอา forward mail ไปโพสต์ลงในเว็บบอร์ด โดยไม่รู้ว่านี่คือความผิดทางกฎหมาย เพราะตัวเองไม่ได้เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของร้านอาหาร จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเผยแพร่เรื่องนี้สู่สาธารณชน ผู้ที่สามารถป่าวประกาศความบกพร่องของร้านได้คือผู้ที่ไปเจอแมลงสาปอยู่ในอาหารด้วยตัวเองเท่านั้น
ยังมีตัวอย่างอีกหลายรูปแบบที่หลายคนรู้แล้วจะรู้สึกว่ามันไม่ make sense ในมุมของตัวเองเลย แต่นี่คือกฎหมายครับ ถ้าเราลองเอาใจของฝ่ายตรงข้ามมาใส่ในตัวเรา ก็จะพบว่าจุดประสงค์ของกฎหมายเอาไว้ช่วยป้องกันความเสียหายอันเกินกว่าเหตุที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม อย่างในกรณีของร้านอาหารกับแมลงสาบ ถ้าความเป็นจริงแล้วร้านอาหารร้านนั้นถูกคู่แข่งกลั่นแกล้ง จริงๆ แล้วไม่ได้มีแมลงสาบอะไร แต่คู่แข่งเจตนาใส่ร้ายด้วยการส่ง forward mail ให้คนอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้สาวถึงตัวจริงได้ง่ายๆ แล้วปล่อยให้ผู้ที่ได้รับ mail เอาเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ต่างๆ ร้านอาหารก็จะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งที่เรื่องนั้นไม่เป็นความจริงเลย ซึ่งผู้ที่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เจ้าของเว็บไซต์ควรชี้แจงให้ผู้ใช้เว็บของตัวเองเข้าใจว่าเขามีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง และไม่มีสิทธิ์ทำอะไรบ้าง อาจจะแจ้งเป็นนโยบายหรือกฎกติกาในเว็บไซต์ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดกรณีฟ้องร้องขึ้นในภายหลัง
ดูเว็บไซต์อื่นที่เขียนถึงงานจิบกาแฟครั้งนี้
ดูรูปภาพทั้งหมดจากงานจิบกาแฟครั้งนี้