ในสมัยก่อน รูปแบบของการแบ่งปันความรู้แก่กันถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ พ่อแม่สอนการบ้านลูก ครูสอนหนังสือนักเรียน เพื่อนติวหนังสือให้เพื่อน หรือกว้างออกมาหน่อยก็คือนักเขียนเขียนหนังสือขายให้คนอ่าน
การแบ่งปันความรู้ส่วนใหญ่เป็นแบบทางเดียว พ่อแม่สอนการบ้านลูก แต่ลูกไม่ได้สอนอะไรให้พ่อแม่ ครูสอนหนังสือนักเรียน แต่นักเรียนไม่ได้สอนหนังสือให้ครู นักเขียนเขียนให้อ่าน แต่คนอ่านก็ไม่ได้แบ่งปันอะไรกลับมาให้นักเขียน แต่ก็มีบ้างที่เป็นการแบ่งปันแบบหลายทาง เช่น เพื่อนติวหนังสือให้เพื่อน เพื่อนคนนึงอาจจะเป็นคนนำในการติว และเพื่อนอีกคนก็อาจจะถามคำถามที่ตัวเองสงสัยขึ้นมา ซึ่งเพื่อนที่เป็นคนติวอาจจะตอบไม่ได้ แต่ก็อาจจะมีเพื่อนคนอื่นๆ ที่ช่วยตอบให้ได้
หรือการเรียนการสอนในห้องเรียนสมัยใหม่ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูอาจจะไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่เอาแต่เขียนกระดานหรือปิ้งแผ่นใส แต่ครูเป็นเสมือน Facilitator ที่คอยกระตุ้นให้นักเรียนถ่ายทอดความรู้ของตัวเองให้เพื่อนๆ ฟัง โดยครูเป็นแค่คนคอยไกด์ให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันความรู้แบบหลายทางก็ยังจำกัดอยู่แค่ในวงแคบๆ เท่านั้น ภายในกลุ่มเพื่อนไม่กี่คนหรือในห้องเรียนเล็กๆ เพราะถ้าคนเยอะขึ้นเมื่อไรก็จะเกิดความโกลาหลขึ้นทันที ต่างคนต่างพูดจนไม่รู้จะฟังใคร หรือมีเวลาจำกัดที่ให้พูดกันทุกคนไม่ได้ ไม่งั้นไม่จบเรื่อง
แต่พอมาถึงยุคของ Web 2.0 ยุคที่ใครๆ ก็เป็นผู้สร้างเนื้อหาได้ ยุคที่คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงมากและมีต้นทุนต่อหน่วยแทบจะเป็นศูนย์ ช่วยให้ข้อจำกัดด้านขนาดของการแบ่งปันความรู้แบบหลายทางลดลง ถ้าคุณอยากแบ่งปันความรู้ คุณก็แค่เขียนบล็อก และเปิดให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ ซึ่งก็จะช่วยเสริมความรู้ที่คุณนำเสนอให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
แต่นอกจากบล็อกแล้วก็ยังมีรูปแบบการแบ่งปันความรู้แบบหลายทางอื่นๆ อีก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ 3 แห่งที่มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ Wikipedia, Yahoo! Answers และ Google Knol
Wikipedia
Wikipedia เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ครูในยุคปัจจุบันไม่สามารถสั่งการบ้านแบบครูในยุคก่อน ที่ให้นักเรียนไปค้นหนังสือในห้องสมุดแล้วเขียนเป็นรายงานมาส่ง เพราะนักเรียนสมัยนี้เข้า Wikipedia แล้วก็อปแปะมาทั้งดุ้น
Wikipedia เป็นเครื่องมือที่ดีมากสำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตาม เพียงแค่พิมพ์คีย์เวิร์ดเข้าไปก็มีข้อมูลสรุปและรายละเอียดให้อ่านอย่างครบถ้วน แถมมีลิงก์อ้างอิงที่ให้ตามไปอ่านต่อได้อีก
การที่ Wikipedia มีข้อมูลจำนวนมหาศาลได้นั้นเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนทั่วโลกที่ช่วยกันเขียนเนื้อหาใส่เข้าไป ใครถนัดเรื่องอะไรก็เขียนเรื่องนั้น มนุษย์เราทุกคนอย่างน้อยก็ต้องมีสักเรื่องที่ถนัดและสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้อยู่บ้าง
จุดเด่นของ Wikipedia อยู่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลที่คนอื่นเขียนไว้ได้หมด โดยที่ระบบของ Wikipedia จะเก็บข้อมูลไว้เป็นเวอร์ชั่น ถ้าเกิดมีมือดีมาลบข้อมูลทิ้งไปก็สามารถนำเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่จะถูกลบกลับคืนมาได้ หรือถ้าใครใส่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าไป คนที่เข้ามาเห็นก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Wikipedia ที่ทำให้ข้อมูลมีแนวโน้มที่จะถูกต้อง พอจะเชื่อถือได้
แต่ Wikipedia ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ นั่นก็คือความถูกต้องและเชื่อถือได้จะเกิดกับข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงเท่านั้น เพราะจะมีคนคอยเข้ามาอ่านอยู่ตลอดเวลา แต่กับข้อมูลที่ได้รับความนิยมน้อย โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในส่วนหาง The Long Tail เมื่อไม่ค่อยมีคนเข้ามาดู ถ้าใครใส่ข้อมูลผิดๆ ลงไป มันก็จะผิดอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข
จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของแรงจูงใจในการเขียนข้อมูลให้กับ Wikipedia เนื่องจากผู้ที่เขียนข้อมูลลง Wikipedia นั้นไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้เงินค่าเขียน ไม่ได้ชื่อเสียง แถมพอเขียนไปแล้ว วันดีคืนดีดันมีคนมาแก้ไขหมดเลย ทำให้รู้สึกว่าที่เขียนไปนี่เสียเวลาจริงๆ พาลทำให้ไม่อยากเขียนซะงั้น ขอเป็นผู้อ่านอย่างเดียวดีกว่า
ด้วยจุดอ่อนเหล่านี้ ทำให้เว็บหลายแห่งที่นำหลักการรวมถึงซอฟต์แวร์แบบ Wikipedia ไปใช้ในเว็บตัวเอง มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีคนเข้ามาเขียนจนทำให้เจ้าของเว็บต้องเขียนเอง อาจจะเรียกได้ว่าเว็บที่ใช้แนวคิดนี้ได้ประสบความสำเร็จมีเพียงแห่งเดียวในโลก นั่นคือ Wikipedia.org
Yahoo! Answers
Yahoo! Answers หรือชื่อในภาษาไทยคือ Yahoo! รู้รอบ บริการจาก Yahoo! ที่ออกแนวเว็บบอร์ด คือให้คนตั้งคำถามได้ และเปิดให้คนอื่นมาตอบคำถาม ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่พยายามหาคำตอบจากแหล่งต่างๆ แล้วไม่พบ หรือไม่ชอบการค้นหาคำตอบด้วยตัวเองแต่ยินดีรอให้คนอื่นมาตอบให้
สิ่งที่ทำให้ Yahoo! รู้รอบ แตกต่างออกไปจากเว็บบอร์ดทั่วๆ ไปก็คือระบบการให้คะแนน โดยถ้าใครที่ตอบคำถามได้ดีจนเจ้าของคำถามอ่านแล้วพอใจกับคำตอบ เจ้าของคำถามจะเลือกคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ผู้ตอบคำถามก็จะได้รับคะแนนที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง
ด้วยกลไกแบบนี้ ทำให้เกิดวัฏจักรการช่วยเหลือกันขึ้นมา ทุกคนจะพยายามตอบคำถามให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้รับคะแนนจากเจ้าของคำถาม เจ้าของคำถามก็พอใจที่ได้รับคำตอบที่ตัวเองต้องการ เกิดเป็นกระบวนการแบ่งปันความรู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะทุกคนที่อยู่ในชุมชนต่างก็มีตัวตนกันหมด
นอกจากนี้ กลไกคะแนนยังช่วยให้คนอื่นๆ เข้าถึงคำตอบที่ถูกต้องได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกับคำตอบทั้งหมด เช่น ถ้ามีคนตั้งคำถามเรื่องปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีหลายคนเข้ามาช่วยกันให้คำตอบ เจ้าของคำถามก็จะทดลองแก้ปัญหาโดยอาศัยคำตอบต่างๆ จนเมื่อเจอคำตอบที่ช่วยแก้ปัญหาได้ เขาก็จะเลือกคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ต่อมาเมื่อมีคนอื่นที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันเข้ามาค้นหาคำตอบ เขาก็จะใช้คำตอบที่ดีที่สุดช่วยแก้ปัญหาของเขาได้ทันที ซึ่งกลไกนี้คล้ายๆ กับ Pantip.com ในบริการ Technical Xchange ที่ให้คนร่วมกันโหวต It’s work! ให้แก่คำตอบที่ใช้การได้จริง
แต่จุดอ่อนของ Yahoo! รู้รอบ ก็คือมีความเป็นไปได้ที่จะมีการโกงคะแนน หรือหากลวิธีที่จะเพิ่มคะแนนให้ตัวเอง ซึ่งทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของระบบคะแนนลดลง ถ้าคนโกงมีคะแนนมากกว่าคนที่ตั้งใจตอบคำถาม ระบบคะแนนก็จะล้มเหลวทันที
Google Knol
Google Knol เป็นบริการของยักษ์ใหญ่ Google ที่ถูกวางให้เป็นคู่แข่งกับ Wikipedia สิ่งที่ Google Knol ทำได้ปิดจุดอ่อนทุกอย่างที่ Wikipedia มีอยู่ ถ้าคุณแบ่งปันความรู้ใน Wikipedia คุณจะไม่ได้อะไรเลย ถ้าคุณแบ่งปันความรู้ใน Yahoo! รู้รอบ คุณจะได้คะแนนที่เป็นความภาคภูมิใจ แต่ถ้าคุณเขียนบทความลง Google Knol คุณจะได้ทั้งชื่อเสียงเพราะรูปและประวัติย่อของคุณจะถูกเผยแพร่ไปพร้อมกับบทความ และยังได้เงินจากการติดโฆษณา Google AdSense ด้วย
Google Knol ให้ทั้งเครดิตและให้สิทธิ์แก่เจ้าของบทความในการบริหารจัดการกับบทความของตัวเอง เจ้าของบทความมีสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นๆ ซึ่งต่างจาก Wikipedia ที่ทุกคนจะแก้ไขอะไรก็ได้ การที่คนอื่นไม่สามารถแก้ไขบทความของตัวเองได้ อาจทำให้บทความมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ด้วยภาพลักษณ์ของ Google Knol ที่เป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) จากสาขาต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนต่างก็ลงรูปและประวัติของตัวเองเอาไว้ ทุกคนที่เขียนบทความจึงต้องตระหนักถึงความถูกต้องของบทความ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลถึงชื่อเสียงของตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม Google Knol เปิดช่องให้ทุกคนสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดของบทความ หรือเขียนเนื้อหาต่อยอดบทความของคนอื่นได้ โดยที่การแก้ไขจะถูกส่งไปให้เจ้าของบทความพิจารณาก่อน ถ้าเจ้าของเห็นด้วยกับการแก้ไขนั้นก็จะเผยแพร่บทความฉบับแก้ไขขึ้นไปแทน และชื่อของผู้แก้ไขก็จะถูกแสดงในบทความในฐานะ Contributor แน่นอนว่าบทความก็จะถูกเก็บเป็นเวอร์ชั่นไว้เช่นเดียวกับ Wikipedia เพื่อให้เจ้าของสามารถย้อนกลับไปใช้บทความก่อนหน้าได้
แต่ถ้ามีคนส่งบทความฉบับแก้ไขไปให้เจ้าของบทความแล้ว แต่เจ้าของไม่ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง และไม่ยอมนำฉบับแก้ไขขึ้นแทนล่ะ? ถ้าเป็นแบบนี้ ผู้ที่เขียนฉบับแก้ไขก็สามารถไปสร้างบทความใหม่ในเรื่องเดียวกัน และเขียนบทความใหม่ที่ถูกต้องเป็นของตัวเองได้ ผู้อ่านจะพบบทความในเรื่องเดียวกันสองบทความ และจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าบทความไหนถูกต้องที่สุด
ด้วยความที่ Google Knol เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นาน จึงยังไม่มีใครรู้ว่ามีจุดอ่อนอะไรอยู่บ้าง ถ้าเกิดวันหนึ่งที่ Google Knol ได้รับความนิยมมากขึ้น มีผู้เขียนบทความมากขึ้น มีจำนวนบทความมากขึ้น และมีบทความในเรื่องเดียวกันแต่ถูกเขียนแยกโดยผู้เขียนหลายคน แบบนี้ Google Knol จะทำอย่างไรเพื่อแนะนำผู้อ่านว่าบทความไหนถูกต้องที่สุด หรือว่าผู้อ่านต้องเสียเวลาอ่านทุกบทความเพื่อจะตัดสินว่าควรจะเชื่อถือบทความไหนกันแน่
สรุป
จากการวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแบ่งปันความรู้ทุกแบบต่างก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เหมือนกันคือ จะทำอย่างไรให้ข้อมูลถูกต้องมากที่สุด? จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดได้ทันทีโดยไม่เสียเวลาไปกับข้อมูลที่ผิด? และจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้มีผู้เขียนเข้ามาแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา?
ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการแบ่งปันความรู้ในรูปแบบอื่นที่สามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ ซึ่งวันนั้นมนุษยชาติเราก็จะมีระบบอับดุลอัจฉริยะที่สามารถตอบได้ทุกคำถามจริงๆ