เวทีแสดงความคิดเห็นระหว่างผู้คนมีได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เห็นหน้าเห็นตากัน หรือแบบผ่านห้องสนทนาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ในปัจจุบัน มีเวทีให้คนหลากหลายอาชีพมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในรูปแบบใหม่ ไม่เหมือนใครเรียกว่า “บาร์แคมป์”
เริ่มต้นทำความรู้จักกับ บาร์แคมป์ (BarCamp) กันก่อน นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย อธิบายว่า ชื่อบาร์แคมป์ มีที่มาจากคำว่า ฟูบาร์(Foobar) เป็นการตั้งล้อชื่อ มักเห็นบ่อย ๆ เวลาอ่านคู่มือติวเขียนโปรแกรม แล้วคนเขียนตั้งชื่อตัวแปรไม่ออกก็ใส่ ฟูบาร์ทุกครั้งไป และเป็นอีเวนท์ทางการศึกษาที่ไม่อาจจัดกลุ่มได้ ในการจัดงานที่มีรูปแบบเดิมๆ โดยเริ่มจากการกำหนดก่อนว่า อะไรที่ไม่ใช่บาร์แคมป์ก็ไม่ใช่การเรียนการสอน และไม่ใช่การนำเสนอแบบมีรูปแบบ รวมถึงไม่ใช่การสัมมนา และทั้งหมดที่กล่าวมา มักถูกเรียกว่า งานสัมมนานอกกรอบ (un-conferrence) ที่สานต่อจากหลากหัวข้อ ผ่านการโหวตจากผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน คัดเลือกอันดับที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 20 หัวข้อ แบ่งเวลา-ห้องให้สนทนาร่วมกัน ในหัวข้อที่ตนสนใจ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องไอที
บาร์แคมป์ เป็นการสนทนากัน โดยหัวใจสำคัญ คือ การเอาคนที่ชอบในเรื่อง เทคโนโลยีมาเจอกัน มาเสวนากันและก็ปล่อยให้บรรยากาศดำเนินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดกรอบหรือ กำหนดการใดๆ ให้ตายตัว ขณะเดียวกันบาร์แคมป์เป็นเรื่องของการร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า ค่ายดังกล่าวไม่มีผู้ชมจะมีก็แต่ผู้ร่วมจัดงาน เพราะทุกๆ คนที่เข้ามานั้นจะช่วยงานกัน เริ่มตั้งแต่มาเสนอเทคโนโลยี เป็นผู้ช่วยนำเสนอ หรือแม้กระทั่งสามารถช่วยทำงานจิปาถะในการสนทนาที่เกิดขึ้นก็ได้ นอกจากนี้ จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน มากกว่าจะมาเป็นผู้ชมหรือฟังเพียงอย่างเดียว
รองเลขาธิการ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย อธิบายต่อว่า บาร์แคมป์เป็นการจัดงานที่ไม่มีข้อกำหนดหรือข้อจำกัด ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมงานได้ตราบเท่าที่มีความตั้งใจมาช่วยงาน ดังนั้นจะเป็นผลดีกับทุกๆ คนเมื่อคนร่วมงานมีจำนวนมาก เพราะยิ่งคนมากไอเดียก็จะยิ่งบรรเจิด หัวข้อมากขึ้น และมุมมองก็จะมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อมีคนร่วมงานมาก แรงขับเคลื่อนก็จะยิ่งเกิดมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม บาร์แคมป์ยังเป็นเรื่องของเครือข่ายขนาดใหญ่ ทุกคนที่มาพร้อมที่จะนำตนเองเข้าสู่ระบบเครือข่ายและแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง ดังนั้นงานจะเต็มไปด้วยแลปท็อป รอยเตอร์ฮัพ (Laptop Routers Hub) และ แอกเซสพ้อยท์ (Access Point) ระบบเครือข่ายนี้จะช่วยให้งานบาร์แคมป์ไม่ถูกจำกัดอยู่แต่เพียงพื้นที่ที่จัดงานเท่านั้นแต่จะช่วยนำงานออกไปสู่สายตาชาวโลกด้วย
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชามนุษยวิทยาศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในฐานะผู้ร่วมดำเนินการ บาร์แคมป์ บาร์แคมป์เป็นเรื่องของการสื่อสาร ผู้ร่วมงานนำแล็ปท็อปมาเขียนบล็อก(Blog) เกี่ยวกับงานบาร์แคมป์ แบบเรลไทม์(realtime) นอกจากนี้ยังเผยแพร่งานนำเสนอของตัวเองไปบนเวบหรือแม้กระทั่งแชทผ่านไอเอ็ม (IM) และไออาร์ซี (IRC) จนบางคนอาจทำวิดีโอ สตรีมมิง (VDO Streaming) เกี่ยวกับงานบ้างอาจทำพ็อดแคสต์ (PodCast) กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้งานถูกนำเสนอออกสู่สายตาชาวโลกเช่นกัน
“รูปแบบการจัดงาน ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ไม่มีหมายกำหนดการ ผู้จัดจะเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และช่วงของเวลาคร่าวๆ เมื่อผู้ร่วมงานมากันพร้อมเพรียง จะเริ่มเสนอหัวข้อที่ต้องการพูดบนกระดาษที่จัดเตรียมให้ ก่อนติดที่ฝาผนัง หลังจากนั้นคนอื่นๆ จะช่วยกันเลือกหัวข้อผ่านการโหวต แต่ก็ต้องไม่ขัดแยังกับการไร้ข้อกำหนด และไร้กำหนดการการเตรียมตัว ส่วนใหญ่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมซึ่งสามารถใช้สื่อสารได้หลายระดับ ทั้งนี้ผู้ร่วมบางคนอาจเตรียมการนำเสนอมา แต่ก็ให้ทำใจ เพราะหัวข้อที่นำเสนอ อาจทำให้เกิดทิศทางใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องที่ตนเตรียมตัวมา หรือบางหัวข้ออาจจะไม่ได้รับการโหวตให้สนทนา แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะเกิดขึ้นในงานครั้งนี้ คือความสัมพันธ์ คนร่วมงานจะรู้จักเพื่อนใหม่ พบกับความคิดใหม่ๆ และก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ต่อยอดขึ้นมาอีก” หนึ่งในฐานะผู้ร่วมดำเนินการ บาร์แคมป์ กล่าว
สำหรับบาร์แคมป์ในครั้งนี้ นับเป็นการจัดครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ โดยผ่านผลตอบรับและเสียงเรียกร้องจากครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.2551 ที่ผ่านมา และมีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 500 คน จากคนไทยและชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมค่ายล้วนเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ โดยทุกคนให้ความสนใจในหัวข้อแตกต่างกันไป และมีหัวข้อต่างจากเรื่องไอทีน่าสนใจมากมาย เช่น ของเล่น กลและวิธีเลี้ยงเด็ก พายเรือคยัคจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ และวิธีเลือกแฟนสาวญี่ปุ่น เป็นต้น
เด็กชายมนัสวัน หาญมงคล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กล่าวว่า เป็นครั้งที่ 2 ที่เข้าร่วม และมีความคิดว่าเป็นรูปแบบแปลกใหม่ดี ได้รับความสนุกเร้าใจ เพราะไม่เคยเห็นงานลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากงานส่วนใหญ่ผู้จัดจะเลือกหัวข้อให้ผู้ฟัง แต่งานครั้งนี้ ผู้ฟังเป็นคนเลือกหัวข้อเอง อีกทั้งไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยส่วนตัวมีความสนใจเรื่อง Javascript ในการเขียนเว็บให้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังอยากให้บาร์แคมป์เกิดขึ้นอีก เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยากพูดเรื่องอะไรแล้วได้พูดในเวทีแสดงความคิดเห็นหลายผู้คนและหลายมุมมอง
นายสุชาธิษณ์ บุนนาค นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโยธินบูรณะ กล่าวถึงบาร์แคมป์ว่า เป็นการรวมตัวของคนที่ชอบคอมพิวเตอร์หลากหลายแนว อาทิ นักเรียน เว็บมาสเตอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรืออาจารย์ เพื่อพูดคุย โดยที่แต่ละคนมีความรู้ ความสามารถไม่เท่ากันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นอกจากนี้ ยังอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมงาน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้รับจากบาร์แคมป์ คือ เครือข่าย มิตรภาพจากการติดต่อสื่อสาร วัฒนธรรมเสรี และการมีส่วนร่วม รวมถึงการกล้าแสดงออกทั้งด้านความคิด ที่สำคัญคือการเชื่อมั่นว่าทุกคนมีดีอยู่ในตนเองและกล้าที่จะแสดงออก เพียงแต่ว่าขาดเวทีที่จะแสดงออกเท่านั้นเอง
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมงานครั้งต่อไป ไม่ว่าจะมีความรู้มาก น้อยหรือไม่รู้เลย ขอเพียงมีใจที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสนใจที่จะร่วมงานเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือน้ำใจและมิตรภาพของทุกฝ่ายต่างหาก อีกทั้งให้หลุดออกจากกรอบเดิมที่ถูกวางไว้ นำไปสู่การเรียนรู้ด้วยการแบ่งปัน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่รวมถึงไม่ลืมที่จะตั้งคำถามหลังการสนทนา หรือเพียงแต่นั่งฟังหรือดูเพียงอย่างเดียว เพราะการแสดงความคิดเห็นเพียวงหนึ่งเสียง ก็สามารถเป็นพลังต่อยอดการเรียนรู้ให้ขยายวงกว้างออกไปได้
กนกรัตน์ โกวิชัย
[email protected]