ผลผลิตจากค่าย INET Young Webmaster Camp 6

เพิ่งกลับจากการเป็นวิทยากรและกรรมการตัดสินในค่าย INET Young Webmaster Camp 6 มาครับ ส่วนตัวผมภูมิใจกับเด็กรุ่นนี้มาก และชอบผลงานหลายชิ้นซึ่งมีไอเดียที่ดี มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้และรายได้ จะขอนำมาเล่าว่ามีเว็บไหนที่น่าสนใจบ้างครับ

สองเว็บแรกเป็นเว็บที่มีรูปแบบเหมือนกับเว็บอื่นๆ ที่มีใช้งานกันอยู่แล้ว แต่มีการทำ Market Differentiation หรือการจับกลุ่มตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งก็คือเว็บหางานสำหรับนักศึกษาฝึกงาน และเว็บสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้ามือสอง

เว็บหางานสำหรับนักศึกษาฝึกงานก็ไม่ต่างอะไรกับเว็บหางานของผู้ที่จบการศึกษาแล้วครับ คือเป็นการจับคู่ระหว่างบริษัทที่ต้องการคน กับคนที่ต้องการงาน จะต่างออกมาหน่อยก็คือเว็บสำหรับนักศึกษาฝึกงานจะต้องมีพื้นที่สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปใช้งานด้วย

หลักการทำงานของเว็บนี้เริ่มจากนักศึกษาที่ต้องการฝึกงานนำประวัติของตัวเองไปลงในเว็บ ส่วนบริษัทที่ต้องการนักศึกษาฝึกงานก็เข้ามาลงประกาศไว้ นักศึกษาสนใจงานไหนก็สมัครผ่านเว็บเข้าไปได้เลย เมื่อได้รับการคัดเลือกและทำการฝึกงานเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทก็จะกรอกแบบประเมินนักศึกษาทางเว็บเพื่อส่งให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนนักศึกษาก็สามารถให้เรตติ้งกับบริษัทได้ว่าทำงานกับที่นี่แล้วได้ประโยชน์หรือประสบการณ์อะไรบ้าง

ถ้าลองวิเคราะห์กันดีๆ จะเห็นว่าเว็บนี้มีโมเดลบางอย่างที่เหนือกว่าเว็บหางานทั่วไป ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือน PantipMarket เทียบกับ eBay กล่าวคือเว็บหางานทั่วไปคือ PantipMarket ที่เน้นไปที่การลงประกาศเพียงอย่างเดียว เมื่อลงประกาศไปแล้วก็ถือว่าจบกระบวนการของเว็บ ทางเว็บจะไม่มีข้อมูลว่าใครลงประกาศไปแล้วสามารถหาลูกค้าได้กี่คน ลูกค้าเป็นคนซื้อของอย่างสุจริตหรือเปล่า เช่นเดียวกับที่เว็บไม่รู้ว่าผู้ลงประกาศเป็นคนขายที่สุจริตหรือเปล่าด้วย ขณะที่เว็บหางานสำหรับนักศึกษาฝึกงานจะเป็นเหมือนกับ eBay ที่กระบวนการครอบคลุมทั้งการลงประกาศ จนเกิดการซื้อขายขึ้น มีการชำระเงิน และมีการให้ Feedback แก่กัน

การที่เว็บหางานสำหรับนักศึกษาฝึกงานมีกระบวนการคล้ายกับ eBay จะทำให้มีข้อดีตรงที่เว็บจะมีประวัติทุกอย่างอยู่ในมือ เว็บจะรู้ว่านักศึกษาฝึกงานชอบบริษัทไหน รู้ว่านักศึกษาจากสถาบันไหนที่มีคุณภาพเพราะได้รับการประเมินที่ดีจากบริษัท รวมถึงสามารถนำประวัตินักศึกษาที่มีอยู่ไปต่อยอดเมื่อนักศึกษาคนนั้นจบการศึกษาและต้องการหางานประจำทำได้ด้วย

เว็บนี้มีจุดยากอยู่ที่ Network Effect นั่นก็คือจะสร้างสมดุลระหว่างจำนวนนักศึกษาฝึกงานและจำนวนตำแหน่งงานที่บริษัทต้องการได้อย่างไร ถ้ามีจำนวนนักศึกษาอยู่เยอะมาก แต่ไม่มีบริษัทไหนมาลงประกาศเลย แบบนี้เว็บก็ไม่เกิด คนที่ทำการตลาดให้กับเว็บนี้จึงต้องเรียนรู้วิธีที่จะเจาะเข้าไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละบริษัทให้ได้

@@@

เว็บสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้ามือสองเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซแบบ C2C ที่ไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะผู้ใช้เว็บจะนำของใช้ของตัวเองที่ไม่ต้องการใช้แล้วมาแลกกับของใช้มือสองของผู้ใช้เว็บคนอื่น จะว่าไปแล้วเว็บนี้ก็เหมือนกับการย้อนยุคไปในสมัยที่มนุษย์เรายังไม่ได้บัญญัติเงินขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า แต่ใช้วิธีเอาสินค้าที่แต่ละคนมีมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น เอาข้าวมาแลกเกลือ เอาม้ามาแลกทองคำ เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะถ้าคนที่มีข้าวและต้องการไปแลกกับเกลือ แต่ถ้าคนที่มีเกลืออยู่แล้วกลับไม่ต้องการข้าว คนที่มีข้าวก็จะไม่ได้เกลือ นอกจากว่าจะเอาข้าวไปแลกกับคนที่มีม้า แล้วค่อยเอาม้าไปแลกกับเกลืออีกที

แต่อินเทอร์เน็ตทำให้ปัญหาการหาคนจับคู่ด้วยไม่ได้ลดลง เพราะอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน ทุกคนสามารถติดต่อถึงกันได้ภายในเวลาเพียงอึดใจเดียว ดังนั้นถ้าคนมีข้าวอยากได้เกลือ เขาก็แค่ประกาศไปว่าเขามีข้าวอยู่ และตอนนี้เขาต้องการเกลือ อย่างน้อยในโลกนี้ก็ต้องมีสักคนล่ะที่มีเกลือและกำลังต้องการข้าว หรือถ้าหาไม่ได้เลย เว็บก็จะต้องฉลาดมากพอที่จะหาคนที่มีม้าเพื่อมาเสนอให้คนที่มีข้าว

โดยส่วนใหญ่แล้ว สินค้ามือสองมักจะไม่ค่อยมีราคาที่ถูกกำหนดมาอย่างตายตัวเหมือนสินค้ามือหนึ่งที่ผู้ผลิตจะตั้งราคามาให้ สินค้ามือสองเป็นเรื่องของความพึงพอใจระหว่างสองฝ่ายมากกว่า โมเดลในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าต่างกันจึงสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น คนหนึ่งมีกระเป๋าที่ซื้อมาในราคา 1,000 บาท อีกคนมีเสื้อยืดที่ซื้อมาในราคา 500 บาท คนที่มีกระเป๋าอาจจะยินยอมแลกกระเป๋าที่มีราคาสูงกว่าของตัวเองกับเสื้อยืดที่มีราคาต่ำกว่าได้ เพียงเพราะเขาพอใจและมีความต้องการเสื้อยืดตัวนั้นอย่างมาก ซึ่งทำให้นึกถึง Kyle MacDonald ที่เอาคลิปหนีบกระดาษสีแดงของเขาไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอื่นๆ จนได้บ้านมาหนึ่งหลัง ด้วยการแลกเปลี่ยนเพียง 14 ครั้งเท่านั้น

รูปแบบของเว็บสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้ามือสองจะมีพื้นที่สำหรับลงประกาศได้ว่าตนเองต้องการสินค้าอะไร ใครที่มีสินค้าชิ้นนั้นอยู่ก็จะเข้าไปดูประกาศ โดยที่เจ้าของประกาศจะมี Profile ของตัวเองลงไว้อยู่ ซึ่งใน Profile จะมีรายการสินค้ามือสองที่ตัวเองมีและยินดีจะแลกกับผู้อื่นได้ เมื่อเห็นว่ามีสินค้าชิ้นนั้นที่ถูกใจก็สามารถติดต่อเจ้าของประกาศเพื่อทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

และถ้าเว็บนี้มีความฉลาดในการจับคู่คนมากกว่า 2 คนได้ เช่น A ต้องการสินค้าของ B ขณะที่ B ต้องการสินค้าของ C แต่ C กลับต้องการสินค้าของ A ระบบก็ควรจะจับ 3 คนนี้มาเจอกันให้ได้ หากทำเช่นนี้ได้ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยไม่ต้องมีเงินเป็นตัวกลางเลย

@@@

สองเว็บต่อมาที่ผมอยากเขียนถึงคือเว็บแนว Web 2.0 ซึ่งเป็นเว็บที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้างเนื้อหา (User-generated content) และมีกลไกด้านสังคม (Social) เข้ามาเกี่ยวข้อง เว็บแรกคือเว็บที่รวบรวมคำพูด (Quote) ของบุคคลสำคัญ อีกเว็บคือเว็บสำหรับสร้าง Timeline ของตัวเอง

เว็บรวบรวมคำพูดของบุคคลสำคัญวางตัวเองว่าเป็น Quote Repository โดยมีคู่แข่งคือ Wikiquote จุดเด่นของเว็บนี้คือผู้ใช้สามารถใส่คำพูดของบุคคลใดๆ ได้ง่ายเพราะ User Interface จะมีช่องที่บังคับให้ใส่เพียงสองช่องคือช่องคำพูดและช่องผู้พูด นอกจากนี้อาจจะมีช่องให้ใส่แท็กเพื่อการจัดกลุ่มคำพูดประเภทเดียวกันได้

เว็บมีระบบสำหรับโหวตได้ว่าชอบหรือไม่ชอบคำพูดไหนบ้าง ซึ่งทำให้สามารถจัดอันดับคำพูดยอดนิยมได้ หรือสามารถหาเพื่อนที่ชอบคำพูดแบบเดียวกันได้ เช่น ผมโหวตว่าชอบคำพูดธรรมะของพระรูปหนึ่ง ถ้ามีคนอื่นโหวตว่าชอบคำพูดนี้เหมือนกัน ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะมีความสนใจแบบเดียวกับผม และเว็บก็สามารถแนะนำได้ว่ามีคำพูดอะไรอีกที่ผมน่าจะชอบ โดยดูจากคนที่มีความสนใจแบบเดียวกับผมว่าชอบคำพูดอะไรอย่างอื่นอีกบ้าง

เว็บนี้สามารถต่อยอดขึ้นมาได้อีกด้วยการทำ Embed Code ของคำพูดเพื่อให้ผู้ใช้นำโค้ดนี้ไปติดในเว็บอื่นได้อย่างเช่นใน Hi5 ซึ่งถือเป็นการทำการตลาดอย่างหนึ่ง หรือจะให้ใส่วันที่ที่คำพูดนั้นเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งผู้ใช้ก็จะมองเห็นเลยว่าคนคนหนึ่ง ในอดีตเขาเคยพูดอะไรไว้ และในปัจจุบันเขาเปลี่ยนคำพูดไปบ้างหรือเปล่า หรือถ้าเอาคำพูดของคนหลายคนที่พูดในช่วงเวลาเดียวกันในเรื่องเดียวกันมาจัดให้อยู่ในหน้าเดียวกัน เราจะได้เห็นภาพของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เช่น A พูดถึงเรื่องม็อบการเมืองไปในทางหนึ่ง ต่อมาอีกสองวัน B ก็พูดเรื่องม็อบการเมืองไปในอีกทางหนึ่ง พอเอาคำพูดของทั้งสองคนนี้มาแสดงต่อกัน ก็จะเห็นภาพว่า A กับ B มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ส่วนตัวผมมองว่าเว็บนี้ไม่ได้เป็นแค่ Quote Repository แต่น่าจะเรียกว่าเป็น Social Quote ได้เลย เป็นเว็บที่เหมาะกับคนที่ชอบอ่านคำพูดหรือคำคมของคนอื่น เพื่อใช้เป็นคำพูดเตือนใจหรือใช้เป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตัวเองได้

@@@

เว็บสำหรับสร้าง Timeline ของตัวเองเป็นเว็บที่กรรมการในค่ายได้ฟังแนวคิดแล้วต่างก็ชอบและถูกใจกันทุกคน ความสามารถของเว็บนี้คล้ายๆ กับ Twitter และ FriendFeed ผู้ใช้สามารถเขียนไดอารี่ในแต่ละวัน หรือนำฟีดจากเว็บอื่นๆ อย่างเช่นรูปจาก Flickr วิดีโอจาก YouTube เข้ามาเก็บในเว็บนี้ได้ แล้วเว็บจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาแสดงบนเส้นตรงที่ลากจากอดีตไปจนถึงอนาคต ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพว่าชีวิตของผู้ใช้คนนี้ได้ทำอะไรและผ่านอะไรมาบ้าง

Twitter และ FriendFeed เป็นเว็บที่เก็บบันทึกข้อมูลในอดีตไว้ แต่เว็บนี้สามารถบันทึกข้อมูลในอนาคตได้ด้วย โดยให้ผู้ใช้สามารถตั้งเป้าหมายได้ว่าในอนาคตตัวเองต้องการเป็นอย่างไร เช่น ผู้ใช้บางคนอาจจะใช้เว็บนี้เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวเอง และเขาตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักลงให้ได้ 10 กิโลกรัมภายใน 3 เดือนข้างหน้า เขาจึงทำการบันทึกน้ำหนักเป้าหมายไว้ในอีก 90 วัน จากนั้นเขาก็ต้องพยายามลดน้ำหนักลงทุกวัน และคอยบันทึกน้ำหนักในแต่ละวันเอาไว้ ซึ่งเขาอาจจะถ่ายรูปตัวเองแล้วนำลงเว็บไว้ทุกวันก็ยังได้

เว็บ Timeline แบบนี้สามารถประยุกต์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้มากมายหลายกลุ่ม ใช้ได้ตั้งแต่เด็กที่เพิ่งจะลืมตาดูโลกเลย โดยให้ผู้ใช้ซึ่งเป็นคุณแม่สามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ ของลูกตัวเองได้ เช่น วันนี้น้ำหนักเท่าไร ส่วนสูงเท่าไร กินนมตอนกี่โมง ร้องไห้ตอนกี่โมง วันไหนที่ลูกไม่สบาย ฯลฯ คุณแม่บันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้ทุกวันจนเมื่อลูกเติบโตขึ้น เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเป็น คุณแม่ก็มอบ Username และ Password ให้ลูกนำไปใช้บันทึกชีวิตของตัวเองต่อ เมื่อลูกล็อกอินเข้ามาก็สามารถย้อนอ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ตัวเองลืมตาดูโลก

นอกจากการใช้เพื่อบันทึกเรื่องราวของมนุษย์แล้ว เว็บนี้ยังสามารถใช้กับองค์กรได้ด้วย บริษัทอาจจะต้องการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การเปลี่ยนผู้บริหาร การเข้าตลาดหุ้นครั้งแรก การเปิดสำนักงานแห่งใหม่ ฯลฯ แล้วเปิดให้ผู้ใช้เข้ามาดู Timeline ของบริษัทได้

เว็บอาจจะทำฟีเจอร์ที่มีความเป็น Social มากขึ้นได้ เช่น A และ B เคยทำงานที่บริษัทเดียวกันมาก่อน ดังนั้นทั้งสองคนจะมี Timeline ช่วงหนึ่งที่อยู่ติดกัน หรือ B กับ C เป็นแฟนกัน ทั้งคู่ก็จะมี Timeline ติดกันตั้งแต่วันที่ตกลงคบกันเป็นแฟน

เว็บนี้มีช่องทางหารายได้ได้ทั้งการโฆษณาและการเก็บค่าสมาชิก รายได้จากการโฆษณานั้นไม่ต่างกับเว็บทั่วๆ ไป แต่รายได้จากค่าสมาชิกจะเกิดขึ้นได้ถ้าข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกไว้เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าทางจิตใจสูง อย่างเช่นข้อมูลที่คุณแม่บันทึกเก็บไว้ให้ลูก เว็บสามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในอดีตได้สำหรับกรณีที่เป็นผู้ใช้แบบไม่จ่ายเงิน ผู้ใช้อาจจะย้อนดูข้อมูลเก่าได้เพียง 1,000 รายการ หากต้องการดูข้อมูลที่เก่ากว่านี้จะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกรายปีก่อน

@@@

สำหรับเว็บสุดท้ายที่จะเขียนถึงเป็นเว็บที่เด็กค่าย YWC ชอบทำกันทุกปี แต่ของปีนี้ดูมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น นั่นก็คือเว็บสำหรับรวบรวมไอเดียเด็ดๆ แล้วทำให้ไอเดียนั้นเป็นจริงให้ได้

แนวคิดของเว็บนี้เริ่มต้นจากการที่มนุษย์เรามักจะมีไอเดียเจ๋งๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่น้อยคนที่จะทำให้ไอเดียของตัวเองเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ นั่นเป็นเพราะแต่ละคนต่างก็มีความสามารถที่จำกัด ขณะที่ไอเดียที่ดีมักจะต้องการความสามารถที่หลากหลายมาประกอบกันจนทำให้ไอเดียกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง

สมมุติว่าผมมีไอเดียที่อยากจะทำนิตยสารแนวใหม่ ผมมีคอนเซปท์แล้วว่าอยากให้นิตยสารออกมามีหน้าตาอย่างไร แต่ผมยังขาดคอลัมนิสต์ที่จะมาร่วมทีมกัน ขาดมือกราฟิกออกแบบรูปเล่ม ขาดช่องทางการจัดจำหน่าย และที่สำคัญคือการเงินทุนเริ่มต้น ผมควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ไอเดียในการทำนิตยสารของผมมันกลายเป็นความจริงได้?

สิ่งที่ผมจะทำก็คือการโพสต์ไอเดียนี้ลงในเว็บ ผู้ใช้เว็บคนอื่นๆ เห็นไอเดียผมแล้วก็จะเข้ามาคอมเมนต์เพื่อปรับให้ไอเดียคมชัดมากขึ้น เมื่อได้ไอเดียที่สมบูรณ์แล้ว ผมก็จะลิสต์ออกมาว่าตอนนี้ยังขาดอะไรอยู่บ้าง ผู้ใช้เว็บบางคนอาจจะมีความสามารถในการเขียน ก็อาสาเข้ามาเป็นคอลัมนิสต์ บางคนทำกราฟิกเป็นก็เข้ามาเป็นคนออกแบบรูปเล่ม บางคนเป็นเจ้าของหรือรู้จักธุรกิจสายส่งก็แนะนำเข้ามา บางคนเป็นนักลงทุนที่อยากเห็นนิตยสารเล่มนี้เกิดขึ้นก็เสนอตัวเป็นผู้ลงทุนให้ เมื่อมีใครเสนออะไรเข้ามา และผมติดต่อประสานงานกับเขาเรียบร้อยแล้ว ผมจะติ๊กว่าสิ่งที่กำลังขาดอยู่ ตอนนี้สามารถหาได้แล้ว โดยที่เว็บจะแสดง Progress ของไอเดียผมที่เริ่มต้นจาก 0% ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผมหาทางเติมเต็มส่วนที่ขาดไปได้

จะว่าไปแ้ล้ว เว็บนี้ก็เหมือนกับซอฟต์แวร์ Project Management ที่จะช่วยผลักดันไอเดียอะไรก็ตามให้สำเร็จลุล่วงได้จริง สิ่งที่แตกต่างก็คือ Project Management ส่วนใหญ่เป็นระบบปิด ถ้าโครงการยังขาดอะไรอยู่ ผู้จัดการโครงการจะต้องเป็นคนหามาเติมเต็มให้ได้ แต่เว็บนี้จะเป็นระบบเปิดที่เจ้าของไอเดียเพียงโพสต์ว่าเขาต้องการอะไรเพื่อทำให้ไอเดียเป็นจริงได้ จากนั้นผู้ใช้เว็บคนอื่นๆ ที่ชอบไอเดียนี้ก็จะช่วยกันเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดอยู่ เป็นการใช้ประโยชน์จากความเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ต

@@@

จริงๆ แล้วยังมีอีก 5 โครงการที่เป็นผลผลิตจากค่ายนี้ที่ผมไม่ได้เขียนถึง เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นเว็บแนววัยรุ่นที่ผมไม่ค่อยถนัด

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมอยากเห็นทุกเว็บที่เกิดขึ้นมาจากค่ายนี้ ถูกพัฒนาต่อจนเป็นเว็บไซต์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้งานได้จริง บางเว็บมีศักยภาพมากพอที่จะโกอินเตอร์ได้ บางเว็บมีโมเดลหารายได้ที่ชัดเจน บางเว็บมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมหาศาล แต่สิ่งที่เว็บเหล่านี้ยังขาดอยู่ก็คือผู้ที่จะช่วยสนับสนุนเงินทุน หากใครที่เป็นนักลงทุนและอยากเห็นเว็บเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ลองติดต่อไปที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยครับ โทร.  0 2251 3090 อีเมล support (at) webmaster.or.th

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

, , , , , , , , , , ,