จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย ธุรกิจหลายแห่งจะต้องปรับตัว เราเริ่มเห็นสัญญาณกันบ้างแล้วที่บริษัทหลายแห่งเริ่มชะลอการจ้างพนักงานเพิ่ม บางแห่งไม่มีการจ้างเพิ่มเลย และบางแห่งก็ใช้วิธีย้ายพนักงานไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้พนักงานตัดสินใจลาออกด้วยตัวเอง โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้
ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจรักษากระแสเงินสดในปัจจุบันไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างที่รู้กันว่าบริษัทจะขาดทุนมากแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ขอให้มีเงินสดมากพอที่จะจ่ายหนี้ได้ก็พอ แต่ถ้าวันไหนที่เจ้าหนี้เรียกเก็บเงินแล้วบริษัทไม่มี (ไม่หนี ไม่จ่าย) นั่นก็แปลว่าบริษัทเข้าสู่ภาวะล้มละลายหรือเจ๊งนั่นเอง จะเห็นได้ว่าตอนนี้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในอเมริกากำลังรอลุ้นเงินจากรัฐบาลที่จะช่วยประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้
วิธีการตัดสินใจรักษากระแสเงินสดในปัจจุบันจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับทุกหน่วยงานภายในองค์กร แผนกไหนที่ใช้เงินอย่างเดียวโดยสร้างมูลค่าอะไรกลับคืนมาให้บริษัทไม่ได้ พนักงานในแผนกนั้นก็มีสิทธิ์จะถูกเลย์ออฟก่อน การลงทุนที่ต้องจ่ายเงินออกไปมากๆ แต่ต้องรอนานกว่าจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมา อย่างเช่นการโฆษณาเพื่อสร้างแบรนด์ที่ไม่สามารถสร้างยอดขายได้ทันที ก็มักจะถูกระงับไว้ก่อน ค่าใช้จ่ายอะไรที่เป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของบริษัท ผู้บริหารก็จะเริ่มพิจารณาว่าจะมีทางใดที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายนั้นลงได้บ้าง
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจออนไลน์เช่นเดียวกัน แต่เป็นผลกระทบที่มีทั้งด้านลบและด้านบวก ในด้านลบ ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่มีรายได้จากการโฆษณาแบบ CPM (Cost Per Mille, Cost Per Thousand Impression) จะเริ่มพบว่ามีลูกค้าน้อยลง ตำแหน่งโฆษณาบนเว็บไซต์ว่างมากขึ้น ทั้งนี้เพราะลูกค้าจะเริ่มลดงบสำหรับการสร้างแบรนด์ที่ไม่ก่อให้เกิดยอดขายในระยะสั้นลง ขณะที่รูปแบบ CPA (Cost Per Action) จะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะ Action ที่เป็นยอดขายหรือที่เรียกว่า CPS (Cost Per Sales) ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้ามาช่วยบริษัทขายของ โดยที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ขาย จะจ่ายให้ก็เพียงค่าคอมมิสชั่นเมื่อมีการขายเกิดขึ้นจริง
ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการพิจารณาเลือกใช้ซอฟต์แวร์ในองค์กร จากเดิมที่เคยซื้อซอฟต์แวร์มีลิขสิทธิ์มาใช้ หลายบริษัทก็จะเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแทน หรือจากที่เคยซื้อซอฟต์แวร์แบบกล่องที่มีราคาแพง ก็เปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์บนเว็บไซต์ที่คิดค่าบริการรายเดือนหรือรายปีในราคาถูกๆ ซึ่งเว็บไซต์ที่ให้บริการซอฟต์แวร์เหล่านี้ถูกเรียกว่า Software-as-a-Service หรือ SaaS นั่นเอง
แนวคิดของ Software-as-a-Service คือการที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มองว่าซอฟต์แวร์ของตนเป็นบริการอย่างหนึ่ง ซึ่งบริการนี้จะครอบคลุมทั้งการติดตั้งซอฟต์แวร์ อัปเกรด ดูแลระบบ รวมถึงจัดเก็บและรักษาข้อมูล ผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากจ่ายเงิน เข้าเว็บ และเริ่มต้นใช้ซอฟต์แวร์ จากที่แต่ก่อนจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์แล้วต้องนำมาติดตั้งเอง คอยดูแลให้ซอฟต์แวร์ใช้งานได้ และยังต้องจัดเก็บรักษาข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยซอฟต์แวร์ตัวนั้นให้ดี ไม่ให้เสียหายหรือสูญหาย ซอฟต์แวร์บางตัวที่มีความซับซ้อนสูง อาจทำให้บริษัทต้องจ้างพนักงานไอทีเพิ่มเพื่อดูแลซอฟต์แวร์ตัวนั้นโดยเฉพาะ กลายเป็นว่านอกจากต้องจ่ายเงินซื้อมาใช้แล้ว ยังต้องจ่ายเงินเพื่อดูแลอีก
ตัวอย่างของ Software-as-a-Service ที่มีชื่อเสียงมากก็คือ www.salesforce.com ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์ CRM ที่ปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 51,800 บริษัท มีโปรแกรมเสริมมากกว่า 800 โปรแกรม และถูกแปลใน 15 ภาษา สามารถใช้งานได้กับทีมขายหลายทีม ที่แต่ละทีมมีพนักงานขายหลายคนได้ และสามารถใช้บริหารลูกค้าแยกตามกลุ่มได้ ด้วยความสามารถของซอฟต์แวร์ในระดับนี้ ถ้าขายเป็นแผ่นซีดีก็คงมีมูลค่าหลายแสนหรือหลักล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพื่อดูแลระบบด้วย แต่ Salesforce คิดค่าบริการเริ่มต้นเพียงเดือนละ $9 ต่อผู้ใช้หนึ่งคน ซึ่งคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับยอดขายที่พนักงานขายหนึ่งคนจะทำได้ และความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ลูกค้าจงรักภักดีต่อบริษัทต่อไป
Software-as-a-Service ที่น่าสนใจอีกเว็บหนึ่งคือ www.yammer.com เว็บไซต์ไมโครบล็อกที่ถอดแบบมาจาก Twitter แต่เจาะกลุ่มผู้ใช้ในองค์กรด้วยการตั้งคำถามกับผู้ใช้ว่า What are you working? หรือคุณกำลังทำงานอะไรอยู่? ผู้ใช้เพียงพิมพ์ข้อความลงไปเพื่อบอกสถานะการทำงานของตนเองให้เพื่อนร่วมงานรู้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กรให้ดีขึ้นกว่าเดิม ธุรกิจของ Yammer มีความไม่ธรรมดาตรงที่ตัวมันเองเป็น Viral Marketing หรือผู้ใช้จะช่วยกันบอกต่อให้ หากมีใครคนใดคนหนึ่งในบริษัทที่สมัครใช้ Yammer เขาย่อมอยากให้เพื่อนร่วมงานเข้ามาใช้ด้วย เขาก็จะบอกต่อชักชวนให้เพื่อนๆ เข้ามาใช้กันเอง เมื่อพนักงานในบริษัทเข้ามาคุยกันใน Yammer มากขึ้น ฝ่ายไอทีของบริษัทก็จะเริ่มกังวลว่าพนักงานจะพูดคุยในสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทหรือเปล่า ดังนั้นหากบริษัทต้องการเข้ามามีอำนาจควบคุมบริหารผู้ใช้ Yammer ที่มาจากบริษัทของตัวเอง เช่น ต้องการลบข้อความที่ไม่เหมาะสมออก หรือต้องการลบผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทแล้ว บริษัทก็เพียงแค่จ่ายเงินให้กับ Yammer เดือนละ $1 ต่อผู้ใช้หนึ่งคน นี่จึงทำให้ Yammer เป็นธุรกิจที่มีรายได้ในหกสัปดาห์แรกที่เปิดให้บริการ
เว็บ Software-as-a-Service ตัวสุดท้ายที่ผมจะแนะนำเป็นเว็บไซต์ของคนไทยที่ไปโกยเงินจากฝรั่งได้ นั่นก็คือ www.ohmyform.com ซึ่งเป็นเว็บที่พัฒนาโดยคุณศิระ สัจจินานนท์ เจ้าของเว็บ www.diaryis.com และ www.zickr.com เว็บ OhMyForm เกิดขึ้นจากไอเดียง่ายๆ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างแบบฟอร์มบนเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลเข้ามาเก็บไว้บนเว็บ ซึ่งการสร้างแบบฟอร์มบนเว็บนี้สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิคเลย เพียงแค่เลือกรูปแบบช่องกรอกข้อมูลตามที่ต้องการ แล้วใช้เมาส์ลากและวางลงในตำแหน่งที่ต้องการ OhMyForm ใช้วิธีทำตลาดด้วย Affiliate Marketing ผ่านเว็บไซต์ ClickBank โดยที่ OhMyForm จะมีรายได้แบบฟอร์มละ $1 ต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันมีแบบฟอร์มที่ใช้บริการอยู่กว่า 5,000 ฟอร์ม
จะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาเว็บไซต์แนว Software-as-a-Service ขึ้นมาเพื่อให้บริการกับลูกค้าองค์กร โดยคิดค่าบริการในราคาต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจ SME ที่มีเงินทุนไม่มากนัก สามารถตัดสินใจใช้บริการได้ง่าย
ในยุคเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ ขอเพียงแค่มี 10,000 คนที่ยอมจ่ายเงินวันละ 1 บาทให้คุณ เพียงเท่านี้คุณก็รวยแล้วครับ