ได้เงินเดือนมา ควรจ่ายให้ใครก่อนดี?

ในวันที่เงินเดือนออก คุณจ่ายเงินให้ใครก่อนครับ? บางคนจ่ายให้ห้างสรรพสินค้าเป็นค่าเสื้อชุดใหม่ บางคนจ่ายให้ร้านอาหารกึ่งผับเป็นค่าความบันเทิงกับเพื่อนฝูง คุณเคยฉุกคิดบ้างหรือเปล่าว่าคุณทำงานหนักมาตลอดเดือนเพื่อเอาเงินไปจ่ายให้ใครบ้าง? และใครกันแน่ที่ควรเป็นคนแรกที่ได้เงินของคุณไป? บทความนี้มีคำตอบให้คุณครับ

1. เจ้าหนี้ บางคนบอกว่าเจ้าหนี้ควรเป็นคนสุดท้ายที่ได้เงินจากเราไป แต่ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยนะ ผมมองว่าเจ้าหนี้คือคนที่ให้เรายืมเงินไปใช้ก่อน เมื่อเรามีเงินแล้ว เราก็ควรคืนให้เขาตามที่ตกลงกันไว้ เจ้าหนี้มีหลายประเภท ทั้งเจ้าหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถ ฯลฯ และเจ้าหนี้แบบคนกันเอง เช่น ร้านโชห่วยใกล้บ้านที่เราเคยติดค่าผงซักฟอกไว้ หรือเพื่อนที่เราเคยขอยืมเงินไปหมุนตอนช็อต

หนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายมักจะตามมาด้วยเงื่อนไขที่มีผลทางกฎหมายเช่นกัน ถ้าถึงวันจ่ายหนี้บัตรเครดิตแล้ว แต่คุณไม่จ่ายตามกำหนด คุณก็จะต้องเสียค่าดอกเบี้ยและค่าปรับ ผมเคยพลาดอยู่ครั้งนึง ยอดหนี้บัตรเครดิตในเดือนนั้นไม่กี่ร้อยบาท แต่งานยุ่งจนลืมจ่าย กลายเป็นว่าต้องเสียค่าดอกเบี้ยและค่าปรับแพงกว่ายอดหนี้อีก เจ็บใจมาก นอกจากนี้ถ้าคุณชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด ชื่อของคุณจะถูกบันทึกในเครดิตบูโรด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อในกรณีที่คุณต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินในอนาคต

ส่วนหนี้แบบคนกันเองนั้น ผมอยากให้คิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้ให้เพื่อน พอถึงกำหนดจ่ายเงินคืน เพื่อนกลับบอกคุณว่ายังไม่มี ขอผ่อนผันไปก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณยังเห็นเพื่อนไปเที่ยวเฮฮาปาร์ตี้อยู่เลย คุณจะรู้สึกยังไง? ทุกคนล้วนมีภาระไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ถ้าคุณเป็นลูกหนี้ การไม่ชำระหนี้ตามที่สัญญากันไว้ มันอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขของคุณได้ครับ

ที่ผมแนะนำว่าเงินเดือนออกแล้วควรจ่ายให้เจ้าหนี้ก่อน ไม่ได้แปลว่าเงินเดือนออกวันที่ 30 แล้วควรจ่ายให้ในเย็นวันนั้นเลยนะครับ แต่หมายถึงคุณควรกันเงินที่เป็นค่าหนี้ออกมาเก็บไว้ก่อน สมมุติว่ากำหนดชำระหนี้วันที่ 10 ของเดือนถัดไป ก็ค่อยเอาเงินที่กันไว้ไปจ่ายให้เจ้าหนี้ในวันที่ 10

2. ตัวคุณเองในอนาคต คือคนที่สมควรได้เงินเดือนของคุณไปใช้รองจากเจ้าหนี้ ซึ่งหมายถึงคุณควรกันเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุนให้ออกดอกออกผลเพื่อชีวิตในอนาคตของคุณเอง การลงทุนมีหลายแบบ เสี่ยงน้อยผลตอบแทนน้อย เสี่ยงมากผลตอบแทนมาก ถ้าคุณประเมินว่าอาจต้องใช้เงินในอนาคตอันใกล้ คุณอาจเลือกฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง หรือฝากประจำระยะสั้น แต่ถ้าคุณคิดว่าจะเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า คุณอาจเอาเงินก้อนนี้ไปซื้อกองทุนรวมหรือหุ้นก็ได้ ซื้อแล้วก็ไม่ต้องคิดว่าเดือนหน้าจะขายเอาเงินไปกินร้านอาหารหรูๆ แต่ให้คิดว่าซื้อแล้วถือยาวไปจนแก่เลย ระหว่างนั้นอาจมีการขายเพื่อไปซื้อตัวใหม่ได้ แต่อย่าขายเพราะจะเอาเงินออกมาใช้

ตอนผมทำงานได้เงินเดือน 20,000 บาท ผมกันเงินไว้สำหรับตัวเองในอนาคตถึง 10,000 บาท (ตอนนั้นผมไม่มีภาระอะไรมาก อยู่บ้านพ่อ กินข้าวแม่ พ่อแม่ไม่ขัดสนอะไร) ผมเอาเงินจำนวนนี้ไปเข้าบัญชีฝากประจำ 24 เดือน โดยทุกเดือนผมจะต้องโอนเงินเข้าไป 10,000 บาท ผ่านไปสองปี ผมมีเงินก้อน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกพอสมควร วิธีนี้เป็นการฝึกวินัยที่ดีมาก ถ้าไม่ทำแบบนี้ผมอาจรู้สึกว่าตัวเองมีเงินพร้อมใช้ตลอดเวลา และอาจเอาเงินไปจ่ายให้คนอื่นแทนที่จะจ่ายให้ตัวเอง ยิ่งในยุคนี้ที่ Apple ออกสินค้าใหม่ถี่ขึ้น เก็บเงินไว้เพื่อตัวเองในอนาคตเถอะครับ อย่าไปจ่ายเงินให้ Apple บ่อยๆ โดยไม่จำเป็นเลย เขามีเงินเยอะอยู่แล้ว

3. ตัวคุณเองในปัจจุบัน คือคนที่คุณควรจ่ายเงินเพื่อดูแลเขาตามสมควร (ปัจจัย 4) โดยอยู่ภายใต้กรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าคุณได้เงินเดือน 15,000 บาท คุณควรรู้ว่าบุฟเฟ่ต์นานาชาติหัวละครึ่งพัน หรือกาแฟยี่ห้อดังแก้วละร้อยกว่าบาท มันไม่ใช่ความพอเพียงแต่อย่างใด หลายคนเงินเดือนหลักแสน แต่กินข้าวแกงจานละ 35 บาท ซื้อกาแฟเซเว่นแก้วละ 20 บาท ลองนึกดูว่าเขาจะมีความมั่งคั่งขนาดไหน

วิธีคุมการใช้เงินในข้อนี้ที่ดีที่สุดคือการทำบัญชีรายจ่าย แบ่งประเภทของรายจ่ายให้ละเอียด เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าของใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ส่วนตัวผมแบ่งประเภทแบบละเอียดมาก ค่าเดินทางแบ่งเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ หรือค่าอาหารก็แบ่งเป็น ร้านริมถนน ร้านสะดวกซื้อ ฟู้ดคอร์ทตามห้าง ฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารตามห้าง ร้านกาแฟเบเกอรี่ การแบ่งละเอียดแบบนี้ช่วยให้เรารู้ว่าถ้าเดือนไหนมีค่าใช้จ่ายสูงเป็นพิเศษ เป็นเพราะเรากินหรูไปหรือเปล่า

4. กิเลสตัวเอง คือคนที่คุณควรจ่ายให้เป็นคนสุดท้าย แต่หลายคนมักจะจ่ายให้เป็นคนแรก คนนี้มักถูกเรียกแบบสวยหรูว่า “รางวัลของชีวิต” หรือ “รางวัลสำหรับการทำงานหนัก” แน่นอนว่าหลายคนอยากดื่มชานมไข่มุกราคาแพงกว่าข้าวราดแกงทุกวัน หลายคนอยากไปเที่ยวผับในคืนวันศุกร์เพื่อผ่อนคลายจากการทำงานหนักมา 5 วัน หลายคนอยากไปเดินห้างตอนสิ้นเดือนเพื่อซื้อเสื้อผ้าสวยๆ หลายคนอยากซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ตอนสิ้นปี หลายคนอยากไปเที่ยวมัลดีฟส์ปีหน้า แต่ขอให้นึกไว้เสมอว่าการจ่ายเงินเพื่อ “ความอยาก” เหล่านี้ ต้องจ่ายหลังจากที่จ่ายให้ 3 คนก่อนหน้านี้แล้ว “ตัวคุณเองในปัจจุบัน” ยังพอต่อรองได้ ถ้าคุณประหยัดในปัจจุบัน ก็มีเงินเหลือให้ทำตามกิเลสของตัวเองได้ แต่ห้ามต่อรองกับ “เจ้าหนี้” และ “ตัวคุณเองในอนาคต” เด็ดขาด ห้ามคิดว่า “ฉันอยากได้กระเป๋าใบนี้ ส่วนเรื่องหนี้ไว้ทีหลังละกันนะ” และห้ามคิดว่า “ฉันอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว ส่วนเรื่องลงทุนไว้ปีหน้าค่อยว่ากัน”

ถ้าคุณสามารถจัดลำดับความสำคัญของคนที่คุณควรจ่ายเงินให้ก่อนหรือหลังได้แล้ว ชีวิตคุณจะไม่ประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังแน่นอนครับ

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •