ตั้งแต่เด็กจนโต ผมผ่านวิวัฒนาการของเครื่องทำน้ำอุ่นมาสองครั้ง ครั้งแรกคือเครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานแก๊ส ต่อท่อจากถังแก๊สหุงต้ม เวลาใช้ก็บิดวาล์วเหมือนเวลาเปิดเตาแก๊สทำอาหาร พอไฟลุกพรึ่บ น้ำก็เริ่มร้อน ครั้งที่สองเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพลังงานจากแก๊สมาเป็นไฟฟ้า ใช้งานง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ต้องมีเสียงไฟลุกน่ากลัว แต่ล่าสุดผมเจอวิวัฒนาการอีกครั้ง คราวนี้มาในรูปแบบของเครื่องทำน้ำ “ร้อน”
ได้ยินเรื่องเครื่องทำน้ำร้อนครั้งแรกจากการคุยกันของเพื่อนบ้านที่คอนโด ประมาณว่ามีคนไปซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นแล้วพนักงานขายถามว่าต้องใช้เครื่องทำน้ำอุ่นหรือเครื่องทำน้ำร้อน ก็เลยมีการถามกันว่าที่คอนโดต้องใช้แบบไหน ซึ่งผมก็สงสัยนิดหน่อยว่ามันต่างกันด้วยเหรอ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร พอถึงคราวตัวเองไปซื้อแล้วเจอพนักงานขายถามแบบเดียวกันบ้างถึงได้รู้ซึ้ง (เกือบซื้อผิดแล้วด้วย) เลยขอนำความรู้ที่ได้จากพนักงานขายมาเล่าสู่กันฟังครับ
มาดูเครื่องทำน้ำอุ่นกันก่อน การทำงานของเครื่องนี้เริ่มจากน้ำเย็นไหลเข้าเครื่อง ตามรูปด้านล่างนี้ก็คือสายที่มาจากก๊อกน้ำ เมื่อน้ำผ่านเข้าไปในเครื่องก็จะมีกระบวนการทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำอุ่นที่ออกมาจากตัวเครื่องถูกต่อเข้าฝักบัวโดยตรง แปลว่าน้ำที่เราอาบก็คือน้ำที่ออกจากเครื่อง 100% ถ้าเราอยากให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก็ปรับได้ที่ตัวเครื่อง

เครื่องทำน้ำอุ่น
ส่วนเครื่องทำน้ำร้อนจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างออกไป น้ำเย็นที่ไหลเข้าตัวเครื่องจะถูกทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนกลายเป็นน้ำร้อน (อุณหภูมิสูงกว่าเครื่องทำน้ำอุ่น) น้ำร้อนที่ออกมาจากเครื่องจะไม่ต่อตรงเข้าฝักบัวในทันที แต่จะต้องผ่านก๊อกผสมน้ำก่อน ซึ่งเราสามารถปรับระดับความร้อนของน้ำที่อาบได้ที่ก๊อกนี้โดยไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับตัวเครื่องเลย ถ้าอยากได้น้ำร้อนมากขึ้น ก็ดันก้านก๊อกขึ้นด้านบน หรือก๊อกบางแบบก็ใช้วิธีบิดไปทางซ้าย ส่วนถ้าอยากได้น้ำเย็นลงก็ดันก้านก๊อกลงหรือบิดไปทางขวา

ก๊อกน้ำผสมน้ำร้อนกับน้ำเย็น ท่อที่ต่อออกจากผนังทางด้านซ้ายคือท่อน้ำร้อน ส่วนท่อทางด้านขวาคือท่อน้ำเย็น น้ำจากสองท่อจะผสมกันออกมาเป็นน้ำอุ่น อยากให้อุ่นมากแค่ไหน สามารถปรับได้ที่ก้านก๊อกด้านขวามือ
เครื่องทำน้ำร้อนบางรุ่นมีที่สำหรับบิดหมุนเพื่อปรับอุณหภูมิได้คล้ายๆ เครื่องทำน้ำอุ่น แต่ระดับสเกลในการปรับจะไม่ละเอียดเท่า (เพราะถ้าจะปรับละเอียดให้ไปปรับที่ก๊อกผสมน้ำแทน) อย่างเครื่องที่ผมซื้อปรับได้ 3 ระดับคือ 40, 50 และ 60 องศา

เครื่องทำน้ำร้อน Stiebel Eltron ท่อขวาคือท่อน้ำเย็นไหลเข้าเครื่อง ท่อซ้ายคือท่อน้ำร้อนออกจากเครื่องถูกส่งเข้าท่อที่ฝังไว้ในผนังเพื่อไปออกที่ก๊อกผสมน้ำ
ข้อดีของเครื่องทำน้ำร้อนที่เหนือกว่าเครื่องทำน้ำอุ่นคือสามารถส่งน้ำร้อนออกไปได้หลายจุด เช่น ส่งไปที่ฝักบัวและอ่างล้างหน้า โดยที่ห้องน้ำจะต้องวางระบบท่อน้ำร้อนและน้ำเย็นคู่กัน (แน่นอนว่าต้องใช้งบสูงกว่าเครื่องทำน้ำอุ่น)
แล้วถ้าห้องน้ำของเราเป็นระบบสองท่อ แต่เราอยากใช้เครื่องทำน้ำอุ่นล่ะ จะใช้ได้มั้ย? คำตอบคือได้ แต่ไม่กี่เดือนเครื่องทำน้ำอุ่นก็จะเจ๊ง เพราะเครื่องทำน้ำอุ่นถูกออกแบบมาให้น้ำอุ่นไหลออกในปริมาณเท่ากับน้ำเย็นที่ไหลเข้า ต่างกับเครื่องทำน้ำร้อนที่สามารถปล่อยน้ำร้อนออกไปในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำเย็นที่เข้ามาได้
ปัจจุบันคอนโดส่วนใหญ่ที่ราคาไม่สูงมาก จะใช้ระบบท่อเดียวที่ใช้คู่กับเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ถ้าคอนโดของคุณมีก๊อกผสมน้ำที่ต่อกับท่อในผนังสองท่อ นั่นแปลว่าคุณต้องใช้เครื่องทำน้ำร้อนครับ