DoubleClick for Publishers (DFP) โซลูชั่นบริหารโฆษณาที่บล็อกเกอร์ควรใช้

ผมได้รู้จัก DoubleClick for Publishers หรือ DFP จากคนใน Google และได้ลองใช้มาปีกว่าแล้ว พบว่ามันเป็นโซลูชั่นสำหรับบริหารโฆษณาที่ดีมากๆ แถมเปิดให้ใช้ฟรีด้วย เลยอยากแนะนำให้บล็อกเกอร์ลองใช้กันครับ

ทุกวันนี้คนไทยที่มีรายได้จากการเขียนบล็อกเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งรายได้ทางตรงมักจะมีอยู่ 2 ทาง บล็อกเกอร์คนไหนที่เป็นที่รู้จักของแบรนด์หรือเอเจนซี่หน่อย ก็จะมีรายได้จากการเขียน Advertorial นอกจากนี้ก็จะมีรายได้จากการติดแบนเนอร์โฆษณา ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น Google AdSense บางรายที่บล็อกมีคนเข้าเยอะๆ ก็อาจได้รับการติดต่อขอลงโฆษณาจากแบรนด์หรือเอเจนซี่โดยตรงเลย

ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่าถ้าตอนนี้คุณเป็นบล็อกเกอร์ที่ยังไม่ดัง มีรายได้จากการติด AdSense เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ค่อนข้างจิ๊บจ๊อย แค่พอใช้เป็นค่าจดโดเมนกับค่าโฮสติ้ง แล้ววันนึงเกิดมีคนติดต่อมาว่าจะขอลงโฆษณาในบล็อกคุณ (อาจเป็นเพราะบล็อกคุณดังขึ้น หรือไม่ก็เนื้อหาในบล็อกคุณตรงกับกลุ่มเป้าหมายของผู้ลงโฆษณามากๆ) คุณเสนอราคาไป ผู้ลงโฆษณาตอบตกลงที่จะลงโฆษณาในบล็อกของคุณเป็นเวลา 1 เดือน พอถึงเวลาเริ่มแคมเปญ คุณก็ต้องถอดโค้ด AdSense ออก แล้วเอาโค้ดของผู้ลงโฆษณาไปติดแทน เมื่อครบ 1 เดือน ก็ถอดโค้ดของผู้ลงโฆษณาแล้วเปลี่ยนกลับมาเป็น AdSense เหมือนเดิม

คำถามคือ มีวิธีไหนมั้ยที่ไม่ต้องคอยเข้าไปแก้โค้ด โดยถ้าช่วงไหนมีลูกค้าซื้อโฆษณาก็ให้แสดงโฆษณาลูกค้า แต่ถ้าไม่มีก็ให้แสดง AdSense เป็นหลัก คำตอบก็คือ DFP ครับ

สิ่งที่ DFP ทำคือช่วย Maximize Revenue ของบล็อกคุณให้สูงที่สุด คุณสามารถกำหนดได้ว่าโฆษณาตำแหน่งไหนในบล็อกของคุณที่จะให้แสดง AdSense ในช่วงที่ไม่มีโฆษณาอื่น โดยที่คุณไม่ต้องเข้าไปแก้โค้ดในบล็อกเลย

AdSense invetory settings

ตัวอย่างการตั้งค่าตำแหน่งโฆษณาในบล็อกผมเพื่อให้แสดง AdSense เมื่อไม่มีโฆษณาอื่น

นอกจากเรื่องการแสดงโฆษณา AdSense แล้ว DFP ยังมีฟีเจอร์เจ๋งๆ อีกหลายอย่างที่เหมาะกับเว็บทุกรูปแบบ ไม่ใช่เพียงแค่บล็อกอย่างเดียว ผมขอยกตัวอย่างมาให้ดู 5 ข้อนะครับ

1. รองรับวิธีแสดงโฆษณาหลายรูปแบบ

ส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคยกับการขายโฆษณาแบบเหมาตำแหน่งในระยะเวลาหนึ่ง เช่น โฆษณาในตำแหน่งบนสุดของหน้าแรกเว็บเป็นเวลา 1 เดือน แปลว่าเราจองพื้นที่นี้ให้ลูกค้าเพียง 1 ราย ถ้ามีอีกรายเข้ามาจะต้องรอให้รายแรกจบแคมเปญก่อน แต่ DFP สามารถแสดงโฆษณาด้วยรูปแบบอื่นๆ ที่นอกจากการเหมาตำแหน่งได้ถึง 6 รูปแบบ

วิธีการแสดงโฆษณาของ DFP

วิธีการแสดงโฆษณาของ DFP ที่มีให้เลือกถึง 6 รูปแบบ

Sponsorship หรือรูปแบบการเหมาตำแหน่งนั่นเอง เป็นรูปแบบที่มี Priority สูงสุด ถ้ามีลูกค้าที่ซื้อโฆษณาด้วยวิธีนี้ DFP จะแสดงโฆษณาของลูกค้ารายนี้ก่อนเลย เราสามารถกำหนดได้ว่าเว็บเรามี Impression เท่าไหร่ จะให้โฆษณารายนี้กี่ % เช่น ถ้ากำหนดเป็น 100% แปลว่าทุกคนที่เข้ามาในเว็บเราก็จะต้องเห็นโฆษณานี้ หรือถ้ากำหนดเป็น 50% แปลว่าเราสามารถขายเป็น 2 สล็อต มีโฆษณา 2 รายแชร์ตำแหน่งกันอยู่ได้

Standard มี Priority รองลงมา สามารถกำหนดได้ว่าต้องการขายเป็น Cost-per-impression หรือ Cost-per-click ถ้าเราติดโค้ด DFP เป็นระยะเวลาหนึ่ง ระบบจะเรียนรู้ได้ว่าโฆษณาแต่ละตำแหน่งของเรามี Impression เท่าไหร่ ตัวเลขนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเรามีของพอขายให้ลูกค้าหรือเปล่า

Network บางครั้งเราอาจได้รับการติดต่อจากเอเจนซี่ที่เป็น Ad Network ซึ่งเขาไม่ได้ขอซื้อพื้นที่โฆษณาเราสำหรับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่ขอซื้อพื้นที่เราเพื่อเป็นหนึ่งในเครือข่ายของเขา แล้วเขาจะยิงโฆษณาซึ่งอาจเป็นของแบรนด์ไหนก็ได้ในบล็อกเรา หลักการคล้ายๆ กับ AdSense ที่ถือเป็น Ad Network รายหนึ่ง ปกติราคาของ Ad Network จะต่ำกว่าสองแบบข้างต้น Priority ก็เลยต่ำกว่าไปด้วย คุณสามารถกำหนดได้ว่า Impression ที่เหลือจากสองแบบข้างบน จะให้กับ Ad Network กี่ %

Bulk อันนี้อารมณ์ประมาณขายเหมาโหล Impression ที่เหลือจากสามแบบข้างบน แทนที่จะแบ่งขายเป็น % แบบ Network แต่จะขายเป็นจำนวน Impression ไปแทน

Price priority Impression ที่เหลือจากสี่แบบข้างบน จะขายให้โฆษณาที่ให้ราคามาสูงสุดก่อน อันนี้เหมาะมากเวลาที่โดนต่อราคา จะได้ตอบไปว่ายินดีลดให้ แต่โฆษณาอาจแสดงน้อยหน่อยนะ เพราะต้องแสดงให้โฆษณาที่ให้ราคาสูงกว่าก่อน

House สุดท้ายแล้ว Impression ที่เหลืออยู่ จะส่งไปให้โฆษณาภายในของเราเองซึ่งมักจะเป็นโฆษณาฟรี เช่น โฆษณาไปยังเว็บในเครือ

2. กำหนดช่วงเวลาแสดงโฆษณาได้

บางครั้งผู้ลงโฆษณามีงบไม่มาก แต่ต้องการประสิทธิภาพ เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งมีพฤติกรรมคือชอบอู้งานมาเล่นเว็บคุณตอนช่วงบ่ายก่อนที่จะเลิกงาน แบบนี้ก็สามารถระบุช่วงเวลาแสดงโฆษณาเฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ในช่วงเวลาบ่ายสามโมงถึงห้าโมงเย็นได้

กำหนดวันเวลาที่ต้องการให้แสดงโฆษณาได้

กำหนดวันเวลาที่ต้องการให้แสดงโฆษณาได้

3. กำหนดความถี่ในการแสดงโฆษณาได้

ถ้าคนเล่นเว็บของคุณเปิดเว็บวันละ 10 หน้า (นึกถึงเว็บบอร์ดอย่าง Pantip ที่คนนึงไม่ได้อ่านแค่กระทู้เดียว) แล้วคุณขายโฆษณาเป็น Impression ลูกค้าอาจจะรู้สึกไม่คุ้ม เพราะหนึ่งคนเห็นโฆษณาซ้ำเดิมหลายครั้ง คุณสามารถบอกลูกค้าได้ว่าเว็บคุณจำกัดจำนวน Impression ที่หนึ่งคนจะเห็นต่อวันได้ เช่น เห็นโฆษณาเดิมไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน ซึ่ง DFP ให้กำหนดได้ตั้งแต่จำนวน Impression ต่อจำนวนนาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือทั้งชีวิตก็ได้ (ชาตินี้ขอเห็นโฆษณานี้แค่ครั้งเดียวพอ)

กำหนดความถี่ของการแสดงโฆษณา

กำหนดความถี่ของการแสดงโฆษณา

4. ระบุประเทศที่ต้องการให้เห็นหรือไม่เห็นโฆษณาได้

เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผู้ลงโฆษณาหลายคนน่าจะชอบ ถ้าสินค้าของเขาขายอยู่ในประเทศไทย ก็ย่อมอยากให้คนที่เห็นโฆษณาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่คนทั่วโลกที่เห็นโฆษณา ในทางกลับกัน ถ้าเว็บคุณมีคนเข้าจากต่างประเทศเยอะ แต่คุณไม่สามารถขายโฆษณาในต่างประเทศได้ ก็อาจขาย Impression ทั้งหมดที่อยู่นอกประเทศไทยให้ Ad Network ไปใช้ก็ได้

กำหนดให้เฉพาะคนในประเทศไทยที่เห็นโฆษณา

กำหนดให้เฉพาะคนในประเทศไทยที่เห็นโฆษณา

5. กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้เอง

เป็นความสามารถของ DFP ที่ผมชอบมาก ถ้าเว็บคุณมี Profile ของสมาชิก เช่น เพศ อายุ รายได้ เป็นต้น คุณสามารถเลือกแสดงโฆษณาที่เจาะกลุ่มเป้าหมายตามที่ผู้ลงโฆษณาระบุได้ เช่น โฆษณาเฉพาะสมาชิกในเว็บที่เป็นเพศชาย อายุ 25-45 ปี รายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท หรือถ้าเว็บคุณมีระบบแท็กที่ใช้กำหนดว่าเนื้อหาแต่ละหน้าในเว็บพูดถึงเรื่องอะไร ก็สามารถระบุได้ว่าให้โฆษณาแสดงเฉพาะในหน้าแท็กที่ระบุเท่านั้น เช่น โฆษณาเครื่องสำอางคงไม่อยากไปโผล่ในหน้าที่พูดถึงโทรศัพท์มือถือ

กำหนดให้โฆษณาถูกแสดงเฉพาะในหน้าแท็กเครื่องสำอาง

กำหนดให้โฆษณาถูกแสดงเฉพาะในหน้าแท็กเครื่องสำอาง

นี่คือความเจ๋งส่วนหนึ่งของ DFP ที่ Google ให้เราใช้งานได้ฟรีๆ แต่ยังมีฟีเจอร์เจ๋งๆ อีกหลายอย่าง ลองเข้าไปศึกษาและทดลองใช้ได้เลยที่ DoubleClick for Publishers – Small Business

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

, ,