ก่อนหน้านี้ (ปี 2555) Facebook บอกว่าปุ่มสำหรับ Share เนื้อหาที่อยู่ในเว็บเราให้ไปปรากฎบน Timeline ของ Facebook อยู่ในสถานะ Deprecated (แนะนำให้เลิกใช้) โดยแนะนำให้นักพัฒนาเว็บเปลี่ยนไปใช้ปุ่ม Like แทน ปรากฎว่าวันนี้ผมเพิ่งเห็นปุ่ม Share กลับมาอีกแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย โดยถูกเรียกว่า Share Dialog
วัตถุประสงค์หลักของสองปุ่มนี้คล้ายคลึงกัน คือเอามาติดในเว็บไซต์เราเพื่อให้ผู้เข้าเว็บสามารถคลิกเพื่อช่วยกระจายเว็บเราออกไปบนเครือข่ายของเขาบน Facebook ได้ ส่งผลให้มีคนเข้าเว็บเรามากขึ้น แต่สองปุ่มนี้ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งคนทำเว็บควรรู้ครับ
1. ปุ่ม Share เลือกได้ว่าจะให้แชร์ไปที่ไหน
เวลาที่กดปุ่ม Share จะมี Dialog แสดงขึ้นมา ซึ่งผู้ที่คลิก Share สามารถกดเลือกได้ว่าจะให้แชร์ลงบนไทม์ไลน์ตัวเอง บนไทม์ไลน์เพื่อน ใน Group ใน Page ที่ตัวเองเป็น Admin อยู่ หรือในข้อความส่วนตัวที่จะส่งหาเพื่อนก็ได้ นอกจากนี้ยังกำหนดได้ด้วยว่าจะให้ใครเป็นเว็บที่เราแชร์บ้าง ทุกคนเลยมั้ย หรือเฉพาะเพื่อน หรือแค่เพื่อนบางคน (เผื่ออยากแชร์เว็บประเภทนั้น…) ขณะที่ปุ่ม Like ทำแบบนี้ไม่ได้ มันจะไปปรากฎบนไทม์ไลน์ตัวเองได้อย่างเดียว หรือถ้าจะให้ส่งเป็นข้อความส่วนตัวหาเพื่อนได้ ก็จะต้องเพิ่มปุ่ม Send ขึ้นมาอีกปุ่ม
ตอนเว็บ Pantip เปลี่ยนโฉมใหม่ ก็มีสมาชิกบ่นเรื่องนี้มาเหมือนกัน เพราะใน Pantip ตัวเก่าใช้ปุ่ม Share แต่พอโฉมใหม่เปลี่ยนมาใช้ปุ่ม Like (แต่เราเลือกใช้คำว่า Recommend หรือแนะนำ แสดงในปุ่มแทนคำว่า Like หรือถูกใจ เพราะบางครั้งเราไม่ได้รู้สึกถูกใจกระทู้นี้หรอก แต่เราแค่อยากแนะนำให้เพื่อนเราเข้าไปอ่าน) ทำให้สมาชิกหลายคนที่มี Page ของตัวเองบ่นว่าเขาไม่สามารถคลิกเพื่อแชร์กระทู้ไปที่ Page ตัวเองได้เหมือนแต่ก่อน
2. ปุ่ม Like แสดงตัวเลขจำนวนคนกดและหน้าเพื่อนเราที่กด
นี่น่าจะเป็นจุดเด่นของปุ่ม Like เลย การมีตัวเลขคนกด Like เป็นหลักพันหรือหลักหมื่น บ่งบอกได้ดีถึงความยอดนิยมของเว็บหน้านั้น นอกจากนี้ยังดึงดูดให้คนที่เข้ามาอ่านทีหลังเห็นแล้วรู้สึกอยากกดบ้างด้วย ส่วนการแสดงหน้าเพื่อนเราก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกว่าเพื่อนเราก็ชอบเว็บนี้เหมือนกัน
ผมเคยหาข้อมูลรีสอร์ทที่จะไปพักผ่อน ไปเจอเว็บของรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่ติดปุ่ม Like เอาไว้ มีคนกด Like หลายพันคน และเป็นเพื่อนผมหลายสิบคนเลย จนผมรู้สึกว่ารีสอร์ทแห่งนี้ต้องน่าสนใจมากแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจจองที่นี่ไป พอไปพักแล้วก็ไม่ผิดหวังเลย
3. ไม่สามารถวางปุ่ม Like ในบางตำแหน่งของหน้าเว็บได้
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผมเจอตอนวางปุ่ม Like ในกระทู้ Pantip ถ้าสังเกตในกระทู้ จะเห็น Pagination Bar อยู่ด้านล่างหน้าจอ แถบบาร์จะอยู่ค้างแบบนี้ไม่ว่าคุณจะ scroll ขึ้นหรือลง ในตอนแรกดีไซน์เนอร์วางปุ่ม Like ไว้บนแถบบาร์นี้ (บริเวณที่วงสีแดงไว้ในรูป) เพราะวัตถุประสงค์คือไม่ว่าคุณจะอ่านกระทู้ถึงตรงไหนแล้วก็ตาม ถ้าคุณรู้สึกอยากกด Like คุณควรจะกดได้เลยโดยไม่ต้อง scroll หาปุ่ม
ปรากฎว่าเจอปัญหาทันที เพราะเวลากดปุ่ม Like ที่วางในตำแหน่งอื่น จะมี Dialog แสดงขึ้นมาที่ด้านใต้ปุ่มเพื่อให้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมได้ แต่พอปุ่มถูกติดค้างไว้ด้านล่างหน้าจอ เวลาคลิกปุ่มแล้ว Dialog จะตกขอบจอไป ทำให้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องย้ายปุ่ม Like ไปวางตรงด้านขวาของชื่อเจ้าของกระทู้แบบในปัจจุบัน
ปุ่ม Like/Share ในฝัน
ถึงแม้ว่า Facebook จะนำปุ่ม Share กลับมาแล้ว แต่ผมคิดว่า Pantip ก็ควรใช้ปุ่ม Like เหมือนเดิมอยู่ แม้ว่าปุ่ม Like จะมีข้อด้อยกว่าปุ่ม Share ในแง่ที่ผู้กดปุ่มเลือกอะไรไม่ได้เลย รวมถึงข้อจำกัดในการวางตำแหน่งของปุ่ม แต่ข้อดีคือการแสดงตัวเลขจำนวนคน Like มันมีความหมายมาก การได้เห็นตัวเลขคนกด Like กระทู้เป็นพัน เป็นเครื่องแสดงถึงความฮอตฮิตของกระทู้นั้นได้เป็นอย่างดี

กระทู้ Pantip ที่มีคนคลิก Like มากกว่า 37,000 คน
แต่ถ้าวันหนึ่ง Facebook สร้างปุ่มในฝันที่รวมเอาข้อดีของปุ่ม Like และ Share เข้าด้วยกัน เป็นปุ่มที่แสดงจำนวนคนกด ให้คนกดสามารถเลือกได้ว่าจะแชร์ออกไปที่ไหน และสามารถปรับแต่ง Dialog ได้ ถึงวันนั้นผมจะรีบเอาปุ่มที่ว่านี้มาใช้ทันทีเลย
ป.ล. จริงๆ แล้วมีปุ่ม Share ที่สามารถแสดงตัวเลขจำนวนคนแชร์ได้เหมือนกัน แต่เป็นของนักพัฒนาภายนอกทำ ไม่ใช่ปุ่มอย่างเป็นทางการของ Facebook ผมเลยไม่อยากใช้ปุ่มนี้เพราะไม่ค่อยมั่นใจในเสถียรภาพและความยั่งยืนของปุ่ม