ทำไมคุณถึงไม่ควรเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท?

อ่านบล็อกของ Khajochi แชร์ประสบการณ์เก็บเงินได้ครบ 1 ล้านบาทเมื่อตอนอายุ 31 ปี แล้วมานั่งนึกถึงเป้าหมายทางการเงินของตัวเองที่เคยคิดว่าจะเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทเช่นกัน แต่ต่อมาผมพบว่าเป้าหมายนี้ไม่ใช่เป้าหมายที่ดีนัก และผมได้เปลี่ยนมันกลางทางเสียก่อน นี่คือเรื่องราวทั้งหมดครับ

ผมสามารถหาเงินก้อนแรกจากน้ำพักน้ำแรงตัวเองที่ไม่ใช่การแบมือขอเงินพ่อแม่เป็นครั้งแรกเมื่อตอน ม.5 จากการไปสอบแข่งขันคอมพิวเตอร์แล้วได้รับรางวัลเป็นเช็คมูลค่า 2,000 บาท ยังจำโมเมนต์ที่ตัวเองไปเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรกเพื่อนำเช็คเข้าบัญชีได้อยู่เลย ในตอนนั้นผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าอยากเก็บเงินให้ได้ 1 แสนบาทก่อนเรียนจบปริญญาตรี ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำได้ยังไง

พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมรับจ๊อบเขียนเว็บตั้งแต่เรียนปี 1 เริ่มทำ Pantip ตอนปี 2 ซึ่งในช่วงแรกทำฟรี ไม่มีรายได้หรือเงินเดือนอะไร ต่อมาพอเว็บเริ่มมีโฆษณา เริ่มย้ายจากการทำงานที่บ้านมาเปิดออฟฟิศที่สะพานควาย ตอนนั้นถึงเริ่มมีเงินเดือนทั้งที่ยังเรียนไม่จบ (เรียนอยู่ปี 4) ซึ่งช่วงนั้นผมก็เลิกขอเงินพ่อแม่แล้ว ตอนที่จบปี 4 ผมยังเก็บเงินได้ไม่ถึง 1 แสน แต่โชคดีที่ผมตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บให้ได้ก่อนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งตอนนั้นผมยังเรียนไม่จบ ขอต่อเวลาอีกหนึ่งปี ก็เลยกลายเป็นว่าผมมีเงินครบ 1 แสนบาทตอนเรียนอยู่ปี 5

พอได้ครบ 1 แสนแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือ 1 ล้านบาท ระยะทางค่อนข้างไกล เลยตั้งกรอบเวลาไว้ทั้งแบบ Aggressive และ Compromise โดยแบบ Aggressive ผมมองว่าผมใช้เวลา 5 ปีมีเงินแสน ก็กะจะใช้ 5 ปีต่อจากนี้เพื่อมีเงินล้าน แปลว่าอายุประมาณ 27 ปีควรทำให้ได้ แต่ก็ Compromise กับตัวเองไว้เหมือนกันว่าถ้าไม่สำเร็จ ก็ขอต่อเวลาเป็นตอนอายุ 30 ปีละกัน

การเดินไปสู่เป้าหมายของผมนั้นก็คล้ายๆ กับ Khajochi คือพอได้เงินมา ให้เก็บก่อนใช้ ช่วงแรกผมเก็บเงินแบบ Aggressive มาก คือ 50% ของเงินเดือนเอาเข้าบัญชีฝากประจำทุกเดือน ต่อมาก็ซื้อประกันออมทรัพย์ที่ช่วยทั้งการออมเงินและลดหย่อนภาษี รวมถึงเปิดพอร์ตหุ้นเพื่อเร่งอัตราการเติบโตของเงิน

พออายุ 27 ปี ผมคอยมอนิเตอร์สมุดบัญชีตัวเองอยู่ทุกเดือนว่าใกล้ถึง 1 ล้านหรือยัง จนวันสุดท้ายก่อนที่ตัวเองจะอายุ 28 ก็พบว่าตัวเลขในบัญชียังไม่ถึงล้าน

ในช่วงนั้น ผมได้อ่านหนังสือพ่อรวยสอนลูก และได้เล่นเกมกระแสเงินสด ซึ่งเกมนี้เป็นเกมที่ทำให้ผมรู้จักการทำงบดุลส่วนบุคคล โดยที่งบดุล (ในเกมนี้) ประกอบด้วยสินทรัพย์และหนี้สิน สินทรัพย์มีทั้งเงินสด หุ้น กองทุน อสังหา ธุรกิจ ฯลฯ ส่วนหนี้สินก็มีทั้งเงินกู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น

เกมกระแสเงินสด

เกมกระแสเงินสด

ผมย้อนกลับมาดูตัวเลขในบัญชีอีกครั้ง ตัวเลขนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ที่ผมมี ซึ่งมันยังไม่รวมเงินที่อยู่ในประกันออมทรัพย์ที่ยังไม่ถึงกำหนดได้คืน ยังไม่รวมมูลค่าหุ้นในพอร์ตที่เติบโตขึ้น พอเอามารวมกันดู ผมพบว่าผมมีสินทรัพย์เกิน 1 ล้านบาทแล้ว โดยที่ผมไม่มีหนี้สินอะไรด้วย

ตอนนั้นแหละที่ผมรู้สึกว่าเป้าหมายไม่ควรเป็นการเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท แต่ควรเป็นการสะสมทรัพย์สินที่หักหนี้สินออกแล้วให้ได้ 1 ล้านบาท นักการเงินเรียกทรัพย์สินที่หักหนี้สินออกแล้วว่า “ส่วนของเจ้าของ (Equity)”

การมีเงิน 1 ล้านบาทนั้นไม่ยาก ถ้าคุณมีเครดิตที่ดี คุณสามารถขอกู้แบงก์ได้ แต่จะมีประโยชน์อะไร? ส่วนการมี Equity 1 ล้านบาทนั้นไม่ง่าย เพราะมันคือความมั่งคั่งที่แท้จริงของคุณ

เมื่อเป้าหมาย 1 ล้านบาททำได้แล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือ “ผมจะมี Equity ให้ได้ 10 ล้านบาท” โดยที่กรอบเวลาคือตอนอายุ 40 ปี ซึ่งบอกได้เลยว่ายากมาก การใช้แรงงานแลกเงินแบบตอนนี้ไม่มีทางทำให้ไปถึงได้ (แต่ก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนงานเพื่อรับเงินเดือนหลายแสนนะ เพราะอยู่ที่ Pantip ถึงเงินน้อยหน่อยแต่ก็แฮปปี้ดี) ต้องอาศัย Big Deal เท่านั้น เช่น ซื้อหุ้นไว้ 1 ล้าน พออายุ 40 มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้น 10 เท่า หรือซื้อคอนโดทำเลดีๆ ไว้ พอถึงเวลาที่เหมาะสมก็ปล่อยออก ได้กำไรหลายแสน ทำแบบนี้หลายๆ รอบก็น่าจะได้ หรือเขียนหนังสือแบบที่แมสสุดๆ ออกมาขาย พิมพ์ซ้ำรอบแล้วรอบเล่า (เปลี่ยนจากเขียนหนังสือเป็นเขียน App ออกมาขายก็ได้)

ทุกวันนี้ผมมีตัวเลขในบัญชีธนาคารเกิน 1 ล้านบาทไปพอสมควรแล้ว ถ้าเป็นแต่ก่อนคงภูมิใจ แต่ตอนนี้จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพทางการเงินสักเท่าไหร่ เงินควรถูกนำไปไว้ในที่ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.75% แต่การถือเงินสดก็ช่วยให้อุ่นใจได้ว่าเมื่อมี Big Deal ผ่านเข้ามา ผมจะมีความพร้อมมากพอที่จะ Take Deal นั้น

สุดท้ายนี้ เป้าหมายทางการเงินของผมไม่ได้มีเพียงสร้าง Equity ให้ได้ 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายอีกอย่าง ลองทายกันดูครับว่าเป้าหมายนั้นคืออะไร แล้วตอนหน้าจะมาเฉลย

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •