ทำไมนโยบายจำนำข้าวจึงไม่ประสบความสำเร็จ วิเคราะห์ในแง่กลยุทธ์การตลาด

บล็อกนี้จะวิเคราะห์นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลในแง่ของกลยุทธ์การตลาดเท่านั้น แต่จะขอไม่กล่าวถึงในแง่การเมือง ประชานิยม คอรัปชั่น หรือข้าวเน่าที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งหาอ่านกันได้มากมายตาม Social Network ต่างๆ อยู่แล้ว

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าคุณทักษิณเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อนโยบายจำนำข้าวเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณทักษิณร่ำรวยขึ้นมาได้จากการทำธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่สภาพตลาดของธุรกิจนี้มีลักษณะที่เรียกว่าตลาดผู้ขายน้อยรายหรือ Oligopoly เพราะมีสัมปทานรัฐเป็นกำแพงกั้นรายใหม่ไม่ให้เข้ามาได้ง่ายๆ และสมัยนั้นยังไม่มีองค์กรที่จะมากำกับดูแลเรื่องราคาค่าโทร คุณทักษิณจึงร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเรียกได้ว่าการทำธุรกิจในตลาด Oligopoly เป็นความชำนาญของคุณทักษิณ

ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ

คุณทักษิณคงมองเห็นว่าตลาดข้าวทั่วโลกมีประเทศผู้ส่งออกข้าวอยู่ไม่กี่ราย เป็น Oligopoly แบบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง เพราะเราสามารถผลิตข้าวได้เกินปริมาณการบริโภคภายในประเทศค่อนข้างเยอะ รองลงมาคือเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา การเป็นเบอร์หนึ่งน่าจะทำให้สามารถชี้นำตลาดได้ (เช่นเดียวกับ AIS) ถ้าเบอร์หนึ่งส่งสัญญาณว่าจะขายข้าวแพงขึ้นแล้วนะ คู่แข่งรายอื่นๆ ก็ควรจะจับมือกันหรือฮั้วเพื่อปรับราคาขึ้นเหมือนกัน อารมณ์คล้ายๆ กลุ่มโอเปคของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และเมื่อข้าวราคาแพงเหมือนน้ำมัน วันนั้นชาวนาไทยก็จะร่ำรวย นี่เลยเป็นที่มาของนโยบายจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาทของรัฐบาลเพื่อไทย

รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า เกวียนละ 15,000 บาท

อนิจจา ตลาดข้าวกับตลาดน้ำมันมีความแตกต่างกันหลายอย่าง น้ำมันในโลกมีปริมาณจำกัด วันนึงจะต้องหมดไป พลังงานทดแทนยังไม่แมส ประเทศผู้ผลิตน้ำมันสามารถควบคุมปริมาณการผลิตและส่งออกได้ เพราะน้ำมันไม่เน่าเสีย ขณะที่ข้าวสามารถปลูกได้เรื่อยๆ มีอาหารที่ทดแทนข้าวได้อีกหลายอย่าง การจำกัดปริมาณการส่งออกสามารถทำได้โดยการสต็อกข้าวไว้ในโกดัง แต่ข้าวเป็นสินค้าที่มีอายุ การสต็อกไว้ยิ่งนานยิ่งมีต้นทุน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความพยายามในการกดดันเรื่องราคาของผู้ผลิตข้าวไม่แข็งแกร่งเท่าการควบคุมราคาของผู้ผลิตน้ำมัน

นอกจากนี้ ในตลาดแบบ Oligopoly คู่แข่งแต่ละรายจะเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของคู่แข่งรายอื่นๆ อยู่ตลอด และคอยปรับกลยุทธ์เพื่อแก้เกม ทีนี้พอรัฐบาลเพื่อไทยใช้กลยุทธ์จำนำข้าว โดยสื่อสารออกไปให้ผู้ซื้อข้าวทั่วโลกรู้ว่า นี่ฉันซื้อข้าวจากชาวนามาแพงนะ ถ้าเธออยากได้ข้าวฉัน เธอก็ต้องยอมจ่ายแพงขึ้น รวมถึงสื่อสารไปยังคู่แข่งอย่างเวียดนามด้วยว่า ถ้าเธออยากได้เงินเยอะขึ้น เธอก็ขึ้นราคาข้าวตามฉันมาสิ

ทีนี้ถ้าคุณเป็นเวียดนาม คุณจะขึ้นราคาข้าวตามไทยหรือเปล่า? คำตอบก็คือไม่จำเป็นเลยครับ เพราะเวียดนามมีต้นทุนการผลิตข้าวต่ำกว่าไทย ประสิทธิภาพในการผลิตก็ดีกว่า คุณภาพของข้าวก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ในเมื่อหน้าตักตัวเองดีกว่า แล้วทำไมต้องไปเดินตามด้วย? ยิ่งไทยส่งสัญญาณขึ้นราคาแบบนี้ เวียดนามยิ่งต้องผลิตข้าวออกมาขายมากๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไปจากไทย

ผมเคยไปดูงานที่เวียดนาม นั่งรถจากลาวเข้าไป สองข้างทางเขียวขจีไปด้วยทุ่งนา ไกด์ชาวเวียดนามบอกว่าที่นี่ปลูกข้าวกันทั้งปี เวียดนามมีปัญหาเรื่องน้ำเหมือนกัน แต่ปัญหาต่างจากไทย กล่าวคือแม่น้ำโขงไหลไปสิ้นสุดที่เวียดนาม แต่ในช่วงหน้าแล้งที่แม่น้ำโขงแห้ง ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาแทนกลายเป็นน้ำกร่อย เวียดนามก็เลยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้สามารถปลูกในน้ำกร่อยได้ และกำลังพัฒนาให้สามารถปลูกในน้ำเค็มได้ด้วย น่ากลัวนะครับ แถมตอนที่ไปกินข้าวในร้านอาหารเวียดนาม ข้าวสวยที่นี่อร่อยไม่แพ้ข้าวไทยเลย แต่ถ้าจะให้พูดตรงๆ ผมว่าอร่อยกว่าข้าวไทยอีกครับ

จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ของไทยคือกั๊ก Supply ไว้เพื่อรอจังหวะขายตอนราคาเพิ่มขึ้น แต่เอาเข้าจริงราคาก็ไม่ได้เพิ่มมากมายเพราะคู่แข่งรายอื่นของไทยปล่อย Supply ออกมาเยอะ เลยกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยขาดทุนหนักจนต้องลดราคาจำนำลงมาในที่สุด

ทีนี้ไทยควรจะทำยังไงในตลาดข้าว? กลยุทธ์การแข่งขันหลักๆ ก็มี Cost Strategy กับ Differentiate Strategy ซึ่งดูอาการแล้วไทยคงใช้กลยุทธ์ลดต้นทุนได้ยาก เพราะค่าแรงเราปรับขึ้นไปแล้ว ค่าครองชีพต่างๆ ก็สูงขึ้นหมดแล้ว นอกจากว่าเราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวให้สูงขึ้น คือทำให้มีผลผลิตต่อไร่มากขึ้น มากกว่าที่เวียดนามทำได้ มากกว่าค่าแรงเวียดนามที่ถูกกว่าไทยพอสมควร ซึ่งไม่ง่ายเลย

เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน

แล้วถ้าเราใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างล่ะ เน้นคุณภาพของข้าวเป็นหลัก พัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้เก็บได้นาน หุงกินแล้วอร่อย จดสิทธิบัตรเพื่อให้ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถผลิตข้าวแบบนี้ได้ สร้างแบรนด์ สร้างความเชื่อว่าประเทศไทยมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ปลูกข้าวได้อร่อยกว่าประเทศอื่น เจาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูงก็จะสามารถตั้งราคาสูงได้ สร้างตลาดให้แมส จูงใจชาวนาให้หันมาปลูกข้าวแบบนี้มากๆ เพราะได้ราคาดีกว่า แบบนี้ข้าวไทยก็จะมีอนาคตครับ

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

, , ,