การปรับ User Experience กิจกรรมโหวตการ์ดวันแม่ของ Pantip

Pantip จัดแคมเปญวันแม่ติดต่อกันมาเป็นสิบปีแล้ว โดยทางเว็บอาสาเป็นตัวกลางระหว่างแม่กับลูกที่อยู่ไกลกัน ให้ลูกเลือกการ์ดและพิมพ์ข้อความที่อยากบอกแม่ จากนั้น Pantip จะจัดพิมพ์การ์ดและส่งไปรษณีย์ถึงมือแม่ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ลูกที่จากบ้านต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพ และลูกที่ไปเรียนต่อเมืองนอก จะชอบแคมเปญนี้มาก

ในช่วงแรกที่ทำแคมเปญนี้ ทางดีไซน์เนอร์ของ Pantip จะเป็นคนออกแบบการ์ด 4 ใบ และให้สมาชิกเลือกการ์ดที่ชอบ 1 ใบเพื่อส่งให้แม่ แต่ปีที่แล้วมีการเปิดให้สมาชิกส่งการ์ดเข้ามาประกวด จากนั้นก็ให้สมาชิกช่วยกันลงคะแนนโหวตการ์ดที่ชอบเพียง 1 ใบ เมื่อปิดโหวตแล้ว การ์ดที่มีคะแนนโหวตสูงสุด 4 ใบ จะได้เป็นการ์ดตัวจริงสำหรับให้สมาชิกเลือกส่งให้แม่ ผู้ออกแบบการ์ดก็จะได้รับรางวัลจากทางเว็บไป (ลองดูผลงานของปีที่แล้ว)

ระบบโหวตแบบนี้มีปัญหา 2 อย่าง ปัญหาข้อแรกเป็นเรื่องของการยกพวกมาโหวต ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใด เพียงแต่มันทำให้การ์ดที่ได้เป็นตัวจริงเป็นการ์ดที่มาจากพวกมาก ไม่ใช่การ์ดที่มีความสวยงามจากความเห็นของคนส่วนมากอย่างแท้จริง

ปัญหาข้อสองเป็นเรื่อง User Experience เพราะปีที่แล้วมีผลงานส่งเข้าประกวดเกือบ 200 ใบ การให้สมาชิกเลือกเพียง 1 ใบ เป็นสิ่งที่ขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์อย่างมาก เพราะมนุษย์เรามีความสามารถในการเลือกอย่างมากก็ 6-8 ตัวเลือก สังเกตได้จากเมนูชุดอาหารในร้านฟาสต์ฟู้ดที่จะมีให้เลือกไม่มากไปกว่านี้ แต่ถ้าตัดตัวเลือกให้เหลือเพียง 2 ตัวเลือก มนุษย์จะตัดสินใจได้ง่ายมากว่าชอบอันไหนมากกว่าอันไหน

จึงเป็นที่มาของการปรับ User Experience ของระบบโหวตการ์ดวันแม่ในปีนี้

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง The Social Network ก็จะทราบว่าสมัยที่ Mark Zuckerberg ยังเรียนอยู่ และยังไม่ได้ทำ Facebook เขาเคยทำเว็บ Facemash มาก่อน ด้วยการรวบรวมรูปภาพของนักศึกษาหญิงใน Harvard แล้วนำมาสุ่มประกบคู่กัน ให้นักศึกษาชายเข้าไปเลือกว่าคนไหนสวยกว่ากัน จากนั้นก็จัดอันดับสาวๆ ทั้งหมดว่าใครเป็นเบอร์หนึ่ง ใครนึกไม่ออกว่าเป็นยังไง ลองเข้าไปเล่นที่ Facemash.com.au เป็นเว็บที่มีคนทำขึ้นมาเพื่อล้อกับหนัง

เบื้องหลังของเว็บ Facemash มีอัลกอริธึมที่ในหนังแสดงให้เห็นว่า Mark ถามจากเพื่อน และเพื่อนจึงเขียนสูตรคณิตศาสตร์ลงบนหน้าต่าง เจ้าสูตรที่ว่านี้มีชื่อว่า Elo Rating System

\[E_A = \frac{1}{1+10^{(R_B-R_A)/400}}\]

คนที่คิดค้นสูตรนี้คือ Arpad Elo เป็นอาจารย์ด้านฟิสิกส์ สูตรนี้ถูกใช้ในเกมการแข่งขันหลายๆ อย่าง เช่น หมากรุก ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล รวมถึงเกมคอมพิวเตอร์หลายๆ เกม

Elo Rating System เป็นสูตรสำหรับคิดคะแนนของการแข่งขันแบบ 1 ต่อ 1 โดยนำระดับความสามารถของแต่ละฝ่ายมาเป็นปัจจัยในการคิด อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนที่แกร่งกว่ามาแข่งกับคนที่อ่อนกว่า ถึงแม้คนที่แกร่งกว่าจะชนะ แต่เขาก็จะได้คะแนนเพิ่มไม่มาก แต่ถ้าคนที่อ่อนกว่าเกิดชนะคนที่แกร่งกว่าขึ้นมา แบบนี้คนที่อ่อนกว่าจะได้คะแนนเพิ่มเยอะมาก และคนที่แกร่งกว่าก็จะเสียคะแนนลงไป เมื่อการแข่งขันผ่านไปหลายแมทช์ ระบบนี้จะได้คนที่แกร่งจริงๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่ใช่คนที่แกร่งเพราะจับฉลากได้สายอ่อน เจอแต่คู่ต่อสู้กระจอกๆ จนเข้ารอบชิง

ทาง Pantip ได้นำระบบ Elo Rating System มาใช้กับการโหวตการ์ดวันแม่ในปีนี้ และตั้งชื่อว่า Card Battle โดยระบบจะสุ่มการ์ดที่มีสมาชิกส่งเข้าประกวดขึ้นมา 2 ใบ จากนั้นให้เลือกว่าชอบใบไหนมากกว่ากัน เมื่อโหวตแล้วก็จะสุ่มคู่ใหม่ขึ้นมาให้โหวตอีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

Card Battle

ประสบการณ์ที่ผู้โหวตได้รับก็คือการได้เห็นภาพการ์ดใบใหม่ไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่โหวต แทนที่จะเห็นการ์ดทั้งหมดในระบบเหมือนปีที่แล้ว และได้ตัดสินใจว่าชอบใบไหนมากกว่า ซึ่งง่ายกว่าปีที่แล้วที่ต้องเลือกเพียง 1 ใบจาก 200 ใบ

สุดท้ายก็ได้ผลงานที่มีคะแนนสูงสุด 4 ใบดังนี้

การ์ดวันแม่ Pantip 2556

การ์ดวันแม่ Pantip 2556

การ์ดวันแม่ Pantip 2556

การ์ดวันแม่ Pantip 2556

ในปีนี้ Pantip เตรียมการ์ดสำหรับส่งให้คุณแม่มากถึง 10,000 ใบ (แบบละ 2,500 ใบ) ผ่านมาแค่วันเดียว การ์ดหมดไปแล้วพันกว่าใบ อย่านิ่งนอนใจครับ รีบลงชื่อส่งการ์ดให้คุณแม่เดี๋ยวนี้เลย!

ป.ล. ขอโน้ตไว้สำหรับปรับปรุงในปีหน้า ถึงแม้จะใช้วิธีการสุ่มการ์ดขึ้นมา Battle ก็จริง แต่บางทีจะเห็นการ์ดใบเดิมที่เคยโหวตไปแล้วถูกสุ่มขึ้นมาอยู่เรื่อย ขณะที่บางใบก็ไม่เคยถูกสุ่มขึ้นมาให้เห็นเลย ส่งผลให้เล่นไปสักพักแล้วเบื่อเพราะเจอการ์ดใบเดิมอีกแล้ว คิดว่าปีหน้าน่าจะตัดใบที่เคยถูกสุ่มขึ้นมาแล้วออกจากกอง จะได้ไม่สุ่มขึ้นมาซ้ำ จนกว่าทุกใบจะถูกสุ่มขึ้นมาจนครบหมดแล้วถึงค่อยล้างกองใหม่

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

, , ,