ช่วงนี้ผมกำลังอ่านหนังสือเรื่อง “เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล” แปลมาจาก The Upside of Irrationality เขียนโดย Dan Ariely ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่ทำการวิจัยทดลองความไม่มีเหตุผลต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งผลการทดลองหลายอย่างที่ออกมากลับตรงข้ามกับทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักด้วยซ้ำ
บทที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ มีการสรุปจากงานวิจัยต่างๆ ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ขึ้นกับชีวิต ความสุขในจิตใจจะเบนออกจาก “ภาวะปกติ” แต่มันก็มักจะหวนคืนกลับสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาผ่านไป เช่น ถ้าคุณซื้อรถใหม่ คุณจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นกว่าปกติในช่วงเวลานึง แต่สักพักคุณก็จะเฉยๆ กับมัน หรือถ้าวันนึงคุณเกิดตาบอดขึ้นมา ช่วงแรกคุณจะทุกข์มาก แต่ในที่สุดคุณจะปรับตัวและใช้ชีวิตในสภาวะใหม่ได้
ทีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือถ้าคุณเจอสภาวะที่คุณไม่ชอบใจแบบรวดเดียวจบไปเลย กับแบบเจอไประยะนึง จากนั้นมีโอกาสพัก แล้วค่อยไปเจอต่ออีก แบบไหนที่ทำให้คุณรู้สึกทุกข์น้อยกว่า ลองนึกถึงการทำงานบ้านที่น่าเบื่อ ระหว่างกัดฟันทนทำรวดเดียวจบไปเลย กับการทำไปพักไป แบบไหนดีกว่ากัน
มีการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ฟังเสียงเครื่องดูดฝุ่นอันแสนน่ารำคาญ โดยที่กลุ่ม A จะฟังเสียงนานแค่ 5 วินาที กลุ่ม B ฟังนาน 40 วินาที กลุ่ม C ฟังนาน 40 วินาที หยุดพัก 2-3 วินาที แล้วฟังปิดท้ายอีก 5 วินาที จากนั้นจึงถามแต่ละกลุ่มว่าใน 5 วินาทีสุดท้ายของการฟังเสียงเครื่องดูดฝุ่น คุณรู้สึกยังไง?
ผลการทดลองออกมาว่า กลุ่ม A ที่ฟังแค่ 5 วินาที รู้สึกแย่กว่ากลุ่ม B ที่ฟังนาน 40 วินาที ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่ม B สามารถปรับตัวให้เข้ากับเสียงเครื่องดูดฝุ่นได้แล้ว เลยไม่รู้สึกว่าแย่อะไรมากมาย แต่กลุ่มที่เลวร้ายที่สุดคือกลุ่ม C เพราะการขัดจังหวะด้วยการพักไปทำลายกลไกการปรับตัว ทำให้ความน่ารำคาญกลับคืนมา
แล้วถ้าเป็นสภาวะที่น่าพอใจล่ะ การมีความสุขแบบรวดเดียว กับการมีความสุขไประยะนึง แล้วหยุดพัก จากนั้นค่อยมีความสุขต่อ แบบไหนรู้สึกดีกว่ากัน
ทดลองโดยให้กลุ่ม A นั่งเก้าอี้นวดแสนสบายเป็นเวลา 180 วินาทีติดต่อกัน ส่วนกลุ่ม B นั่งเก้าอี้นวด 80 วินาที จากนั้นหยุดพัก 20 วินาที แล้วนวดต่ออีก 80 วินาที
ผลปรากฎว่ากลุ่ม B มีความพึงพอใจสูงกว่ากลุ่ม A ทั้งที่กลุ่ม B ได้เวลาในการนวดจริงๆ แค่ 160 วินาที น้อยกว่ากลุ่ม A ด้วยซ้ำ แถมกลุ่ม B ยังบอกด้วยว่ายินดีจ่ายเงินมากกว่ากลุ่ม A เป็นสองเท่าเพื่อแลกกับการนวดแบบขัดจังหวะด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่ม A มีความสุขแบบรวดเดียวจนเกิดการปรับตัวและรู้สึกเฉยๆ ในที่สุด ขณะที่กลุ่ม B มีความสุขไปสักพัก พอช่วงพักทำให้การปรับตัวเสียไป เมื่อนวดต่อรอบสองจึงรู้สึกมีความสุขอีกครั้ง เหมือนได้สุขสองเด้ง
พอดีช่วงที่เขียนบล็อกนี้เป็นช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ทำให้ผมนึกขึ้นมาว่าระหว่างการทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง หยุดพัก 2 วัน กับการทำงาน 4 วัน วันละ 10 ชั่วโมง หยุดพัก 3 วัน แบบไหนจะทำให้มีความสุขมากกว่ากัน และผมโพสต์คำถามนี้ลงไปใน Facebook และ Twitter ซึ่งก็ได้คำตอบที่น่าสนใจหลายอย่างเลย (ผมขอกล่าวถึงเฉพาะผู้ที่รู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องที่ไม่มีความสุขนะครับ ส่วนใครที่รู้สึกสนุกกับงานอยู่แล้วคงไม่เข้าข่าย)
สองความเห็นนี้ยืนยันว่าการทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน ทำให้มีความสุขมากขึ้น และเชื่อว่าหลายๆ คนก็เห็นด้วย แต่อาจจะมีเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น การมีวันหยุดยาว 3 วัน ทำให้มีเวลาไปเที่ยวหรือทำอะไรอย่างอื่นได้มากขึ้น หรือบางคนอาจรู้สึกว่าการผจญกับรถติด 5 วันเพื่อเดินทางไปทำงาน มันทรมานมาก ถ้าเจอรถติดแค่ 4 วันน่าจะแฮปปี้กว่า หรือบางคนรู้สึกว่าทำงานแบบอัดเต็มที่ไปเลย 4 วันมันทุกข์น้อยกว่า 5 วัน
เด็ดกว่านี้อีกคือให้ทำงานติดต่อกันแบบไม่ต้องหยุดไปนานๆ เลย เวลาหยุดก็ได้หยุดติดต่อกันยาวๆ เช่นกัน อันนี้เข้ากับทฤษฎีว่าถ้าเป็นเรื่องทุกข์ ให้ทุกข์รวดเดียวไปเลย กลไกการปรับตัวจะได้ทำงาน อย่าทุกข์ไปพักไป แบบนี้มันทรมาน แต่ผมสงสัยว่าคนที่ทำงานติดต่อกัน 7 เดือนเพื่อหยุดเที่ยว 5 เดือน ในวันหยุดวันสุดท้ายก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะต้องทำงาน เขาจะรู้สึกทุกข์ยิ่งกว่าคนทั่วไปที่ทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน ที่จะรู้สึกเซ็งในคืนวันอาทิตย์หรือเปล่า
ความเห็นนี้มาแนวเศรษฐศาสตร์แบบจัดเต็ม มีประเด็นที่น่าสนใจคือถ้าเราได้หยุดในวันที่คนส่วนใหญ่ทำงาน ย่อมทำให้เรามีความสุขอยู่แล้ว แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ของโลกทำงาน 4 วัน หยุด 3 วันเหมือนกันหมดล่ะ เราจะยังมีความสุขอยู่มั้ยนะ?
นอกจากความเห็นเหล่านี้แล้ว ผมยังมีข้อสงสัยเพิ่มขึ้นอีกข้อ ระหว่างการทำงานติดต่อกัน 4 วัน เพื่อหยุดยาว 3 วัน (เช่น ทำงานจันทร์-พฤหัส หยุดศุกร์-อาทิตย์) กับการทำงานจันทร์-อังคาร หยุดวันพุธ แล้วทำงานวันพฤหัส-ศุกร์ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ แบบไหนน่าจะมีความสุขมากกว่ากัน?
ถ้าเรามองว่าการทำงานคือความทุกข์ การทำงานติดต่อกัน 4 วันไปเลยน่าจะช่วยให้เรารู้สึกดีกว่า แต่ถ้าเราไม่ได้รู้สึกว่าการทำงานเป็นความทุกข์อะไรมากมาย ขณะที่เราให้ค่ากับวันหยุดว่าเป็นความสุข การได้หยุดวันพุธ แล้วมาหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็น่าจะทำให้เรารู้สึกมีความสุขสองเด้งในหนึ่งสัปดาห์
ส่วนตัวผมเอง เวลาที่มีวันหยุดพิเศษตรงกับวันพุธ ผมจะแฮปปี้กว่าการหยุดยาวศุกร์-อาทิตย์หรือเสาร์-จันทร์อีกนะ แต่ด้วยความที่มันเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นที เลยไม่รู้ว่าถ้ามันเป็นกิจวัตรปกติ ผมจะยังแฮปปี้หรือเปล่า หรือกลไกการปรับตัวมันอาจทำให้ผมรู้สึกเฉยๆ ในที่สุดก็ได้