มีโอกาสได้ไปนั่งเรียนหลักสูตร TMB Efficiency Improvement for Supply Chain มาหนึ่งวัน ได้ความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพใน Supply Chain มาหลายเรื่อง เลยอยากเอามาแชร์ให้ผู้ประกอบการ SME ที่อ่านบล็อกผมได้ทราบกันครับ
1. การเพิ่มประสิทธิภาพ สำคัญไม่แพ้การเพิ่มยอดขาย
ผู้ประกอบการ SME มักจะคิดถึงแต่เรื่องยอดขาย เรื่องการเติบโตของธุรกิจ คอร์สด้านการตลาดจึงได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ความจริงแล้วการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ต้องดูทั้งสองด้าน คือการเพิ่มยอดขาย และการบริหารต้นทุน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้ต้นทุนต่ำสุด แต่ต้องบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
บางธุรกิจมียอดขายดีมาก แต่สุดท้ายแล้วเจ๊ง เป็นเพราะบริหารจัดการต้นทุนได้ไม่ดี เช่น สต็อกของไว้มากเกินไป มีของเสียจากกระบวนการผลิตมากเกินไป พนักงานเสียเวลาทำงานกับสิ่งที่ไม่เกิดคุณค่ามากเกินไป เรื่องพวกนี้สำหรับ SME อาจดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ ผู้ประกอบการบางคนอาจมองว่าไม่คุ้มที่จะเสียเวลาลงไปปรับปรุง ไว้บริษัทใหญ่โตแล้วค่อยปรับปรุงถึงจะเห็นเป็นเม็ดเงินมากกว่า แต่ความจริงแล้วเหมือนการทำเศษเงินตกอยู่หลายๆ ที่ พอเอามารวมกันแล้วเป็นเงินไม่น้อยเลย
อย่าลืมว่ารายได้ 1 บาทที่เพิ่มขึ้น กับค่าใช้จ่าย 1 บาทที่ลดลง มีค่าไม่เท่ากัน รายได้ 1 บาทเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะได้แน่หรือเปล่า ได้มาก็โดนหักภาษี 20% เหลือเข้ากระเป๋าแค่ 80 สตางค์ แต่ค่าใช้จ่าย 1 บาทที่ลดลงได้ มันคือ 1 บาทเต็มๆ ที่เข้ากระเป๋า ไม่โดนหักภาษี
2. การเพิ่มประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
ผู้ประกอบการ SME บางรายอาจคิดว่าการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องใช้ทฤษฎีซับซ้อน แต่ความจริงแล้วมีหลักง่ายๆ คือดูว่ากระบวนการต่างๆ ในธุรกิจเรามีอะไรที่ขัดหูขัดตาอยู่หรือเปล่า มีอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ก่อให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจหรือเปล่า แล้วลองเข้าไปวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหานั้น
ในทางทฤษฎีจะมีหลักการที่เรียกว่า Lean Six Sigma ซึ่ง Lean คือการลดความสูญเปล่า ขบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น หรือไม่มีคุณค่าในสายตาลูกค้า ออกไปจากกระบวนการทำงานของเรา ซึ่งจะช่วยให้เรามีเวลาในการทำงานที่มีคุณค่าแก่ลูกค้าได้มากขึ้น ส่วน Six Sigma คือวิธีการในการลดของเสีย (Defect) ที่เกิดจากกระบวนการทำงานต่างๆ ซึ่งเมื่อนำ Lean Six Sigma มารวมกัน ก็จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่เราจะนำมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในคอร์สที่ผมไปนั่งเรียน มีการให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มและนำธุรกิจของตัวเองมาวิเคราะห์โดยใช้แผนผังก้างปลา (Cause and Effect Diagram) เพื่อหาสาเหตุของปัญหาในแต่ละด้าน ทั้งวัตถุดิบ วิธีการ เครื่องมือ คนหรือแรงงาน สภาพแวดล้อม และการจัดการ เช่น ธุรกิจปลาแผ่นทอดที่รับวัตถุดิบเป็นปลาแผ่นตากแห้งมาจากชาวประมง จากนั้นจึงนำมาทอดขาย พบปัญหาว่าปลาแผ่นที่รับมามีสภาพติดกันเป็นก้อน ต้องนำมาเข้าเครื่องเขย่า แต่เครื่องก็ทำได้แค่แยกให้เป็นก้อนที่เล็กลง แล้วต้องใช้แรงงานคนเพื่อแยกอีกที ส่งผลให้กำลังการผลิตในแต่ละวันไม่สูงมากเพราะต้องเสียเวลาในการแยกปลาแผ่น สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ชาวประมงตากปลาเพียงวันเดียว ทำให้ปลายังมีความชื้นสูง เวลาแพ็คปลามาจะแพ็คติดกันเพื่อประหยัดพื้นที่ ถ้าแพ็คมาวันเดียวยังพอแยกได้ง่าย แต่หากเก็บไว้นานกว่านั้นจะเริ่มติดกันแน่น รวมถึงพนักงานแยกปลาแผ่นที่ชอบคุยกันในเวลาทำงาน ส่งผลให้แยกปลาได้ช้า จะเห็นได้ว่าถ้าสามารถหาวิธีแก้ปัญหาปลาแผ่นติดกันได้ เช่น เปลี่ยนวิธีแพ็ค หรือปรับปรุงเครื่องจักรในการแยกปลา หรือลดระยะเวลาในการเก็บวัตถุดิบให้สั้นลง ก็จะช่วยแก้ปัญหาและทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งข้อดีของคอร์สนี้คือมีผู้ประกอบการด้านอาหารรายอื่นๆ เรียนอยู่ด้วย ทุกคนสามารถช่วยกันเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ได้
3. การเพิ่มประสิทธิภาพส่งผลให้กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้
บางคนอาจเคยได้ยินกรณีศึกษาของโตโยต้ามาบ้างแล้ว โตโยต้าเคยเป็นบริษัทที่เกือบจะล้มละลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะในเวลานั้นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกมีเพียง 3 รายเท่านั้นคือ ฟอร์ด จีเอ็ม และไคร์สเลอร์ (หลายคนรู้จักในชื่อ Big 3) สถานการณ์ในช่วงนั้น ยอดขายของรถยนต์โตโยต้าในตลาดโลกมีน้อยมาก และแทบไม่มีใครรู้จักบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ชื่อโตโยต้าเลย ผู้บริโภคในช่วงนั้นมีความคิดว่าสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
ถ้าโตโยต้าพยายามผลิตรถยนต์ด้วยกระบวนการแบบเดียวกับ Big 3 โดยเน้นการผลิตด้วยปริมาณครั้งละมากๆ เพื่อให้เกิดการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economy of Scale) ซึ่งจะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและสามารถแข่งขันราคากับ Big 3 ได้ แต่ความจริงแล้วโตโยต้าไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีความต้องการ (Demand) ที่อยากจะซื้อรถยนต์ของโตโยต้ามากขนาดนั้น แต่ถ้าหากโตโยต้าใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นคุณภาพให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจโดยการผลิตครั้งละน้อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือต้นทุนการผลิตที่สูงและไม่สามารถแข่งกับ Big 3 ได้อยู่ดี เหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับโตโยต้าที่จะพลิกสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้กลับมา ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นผู้บริหารของโตโยต้า คุณจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้
หลังจากนั้นไม่นาน ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าได้มีโอกาสเยี่ยมชมสายการผลิตรถยนต์ของฟอร์ดในอเมริกา จนเกิดแรงบันดาลใจในวิธีการเติมเต็มสินค้าบนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System – TPS) จึงถูกพัฒนาและถือกำเนิดขึ้นหลังจากนั้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์โตโยต้าดีขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ความสามารถในการแข่งขันของโตโยต้าก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากบริษัทที่แทบไม่มีใครรู้จักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายอันดับหนึ่งของโลกในปี 2007
4. การเพิ่มประสิทธิภาพที่เกิดผลสูงสุด คือการร่วมมือกันทั้ง Supply Chain
การทำธุรกิจประกอบด้วยบริษัทและคู่ค้าหลายฝ่าย ต้นทุนของฝ่ายหนึ่งก็จะถูกส่งผ่านไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเชิง Supply Chain หากต่างคนต่างทำ มีตนเองเป็นตัวตั้ง พยายามลดของตนเองให้ได้มากที่สุด ผลที่ตามมาก็คือต้นทุนไปตกอยู่กับคนอื่น ดังนั้น หากไม่ทำอะไรเลย ก็จะตกอยู่ในสภาพนี้ คือต่างผลักต้นทุนไปให้อีกฝ่าย ซึ่งก็เป็นคู่ค้าของตนเอง ยิ่งในยุคนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง ต้องการลดต้นทุน ก็ใช้วิธีกดราคาลดหลั่นลงไป SME ซึ่งเป็นปลายทาง ต่อให้อยากทำตัวเองให้ดียังไงก็มีต้นทุนที่ถูกผูกเข้ามา ทำให้ได้ผลกำไรไม่เต็มที่ แต่ถ้าร่วมมือกันทั้ง Supply Chain ทำอย่างไรให้ได้กันทั้งหมด ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว
ข้อดีหนึงที่ผมเห็นจากหลักสูตร TMB Efficiency Improvement for Supply Chain คือการมาเจอกันของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจำนวน 80 บริษัท บางบริษัทสามารถเป็นคู่ค้ากับอีกบริษัทได้ เลยเกิดเป็น Network ทางด้าน Supply Chain ขึ้นมา เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ Connection ธรรมดา แต่เป็น Connection ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของ Supply Chain ทั้งระบบ
สุดท้ายนี้ ถ้าใครสนใจเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถติดตามได้ที่ Facebook Page ของ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain และใครที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ Consumer Product ที่สนใจเข้าอบรมหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพ (ฟรี) สามารถดูรายละเอียดได้ที่ โครงการ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain รุ่นที่ 3 ครับ
บทความนี้เป็น Advertorial