ตราสารหนี้คืออะไร มีความเสี่ยงแค่ไหน

ลงทุนมาก็หลายอย่างแล้ว ทั้งฝากธนาคาร ซื้อประกัน ทั้งซื้อกองทุน สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อกระจายความเสี่ยง วันนี้เรามาทำความรู้จักการลงทุนในตราสารหนี้ในเบื้องต้นด้วยกันครับ
ตราสารหนี้ กรุงศรี

ตามคำจำกัดความจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ตราสารหนี้ คือ “ตราสารทางการเงินที่แสดงถึงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออกตราสารและผู้ถือตราสาร โดยผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่แน่นอนในระหว่างอายุของตราสารตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้” ทั้งนี้ ผู้ถือตราสารมีสิทธิ์ที่จะทำการซื้อขายตราสารก่อนครบกำหนดไถ่ถอน

ตราสารหนี้มีหลายชื่อเรียก ชื่อเรียกที่แตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับผู้ออกตราสาร และระยะเวลาของตราสาร ตัวอย่างตราสารหนี้ ได้แก่

  • พันธบัตรรัฐบาล คือตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง และมีอายุมากกว่า 1 ปี พันธบัตรรัฐบาลนับเป็นตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในแง่ของความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบภาระการชำระคืนหนี้ให้กับผู้ซื้อพันธบัตร
  • ตั๋วเงินคลัง คือตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังเช่นกัน แต่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารประเภทไม่จ่ายดอกเบี้ย (zero coupon bond) โดยผลตอบแทนจะได้จากส่วนต่างของราคาที่ประกาศขายซึ่งจะมีราคาต่ำกว่าราคา ณ วันครบกำหนดไถ่ถอนที่ระบุไว้ตามหน้าตั๋ว
  • พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ คือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ และมีอายุมากกว่า 1 ปี เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • หุ้นกู้ คือตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • ตั๋วเงิน หรือตั๋ว B/E คือตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน แต่จะเป็นการกู้ยืมกันในวงจำกัด ไม่มีความมาตรฐานเท่าหุ้นกู้ ส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 1 ปี

จะเห็นได้ว่าตราสารหนี้แตกต่างจากหุ้น เพราะการซื้อตราสารหนี้คือการมีสภาวะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งมีระยะเวลาในการลงทุน และมีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แน่นอนในกรณีถือครองตราสารหนี้จนครบกำหนด เช่น ได้รับดอกเบี้ยแบบคงที่ ปีละ 2 ครั้ง และจะได้รับเงินต้นคืน ณ วันไถ่ถอน แต่การซื้อหุ้น คือการเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้น ระยะเวลาในการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนเอง ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท โดยอยู่ในรูปของเงินปันผล รวมถึงส่วนต่างของราคาในกรณีมีการขายหุ้น

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนมากกว่า 3% ซึ่งสูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์กับธนาคาร โดยผลตอบแทนมักจะสูงกว่านี้ หากเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ หรือหุ้นกู้ในภาคเอกชน ทั้งนี้ความแตกต่างของผลตอบแทน เนื่องมาจากระดับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระที่แตกต่างกันของผู้ออกตราสาร หรือที่เรียกว่าความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ (Credit Rating) ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารที่ประกาศโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศ 2 ราย คือ บริษัท TRIS rating จำกัด และ บริษัท Fitch Rating จำกัด (ประเทศไทย) โดย Credit Rating จะถูกกำหนดด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ และมีการกำหนดความหมายเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับ AAA มีความเสี่ยงในการผิดชำระน้อยที่สุด ในขณะที่หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับ D นับได้ว่ามีความเสี่ยงมากที่สุดในการผิดนัดชำระ

การลงทุนในตราสารหนี้นั้น สามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตราสารในตลาดแรก ซื้อขายตราสารในตลาดรอง หรือการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ การซื้อตราสารในตลาดแรกคือ การซื้อตราสารเมื่อประกาศขายครั้งแรกจากผู้ออกตราสาร โดยทำการซื้อจากสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายในกรณีหุ้นกู้ หรือสั่งจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จากสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรในแต่ละงวด ส่วนการซื้อขายตราสารในตลาดรอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมือของตราสารที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน สามารถซื้อขายผ่านสถาบันทางการเงิน หรือผ่านทางตลาดตราสารหนี้ (BEX- Bond Electronic eXchange) ที่ดำเนินการภายใต้การดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการลงทุนในตราสารหนี้นั้น บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้จากดอกเบี้ย และ15% จากกำไรที่เกิดจากการขายตราสารหนี้ และสุดท้าย โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งกองทุนรวมประเภทนี้จะนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน ไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ซึ่งได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ของภาคเอกชน ซึ่งอาจรวมถึงเงินฝากประเภทต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในนโยบายกองทุน โดยผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีของบุคคลธรรมดา

จุดเด่นของการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทน และกำหนดระยะเวลาแน่นอนในกรณีที่ถือจนครบอายุไถ่ถอน แต่ยังคงมีความเสี่ยงของการขาดสภาพคล่องหากผู้ลงทุนต้องการขายตราสารหนี้ก่อนหมดอายุ ซึ่งสภาพคล่องของตราสารหนี้นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขายตราสารที่หมุนเวียนในตลาด อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้นับเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากออมทรัพย์ ทั้งยังมีหลายประเภทให้เลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสม เช่น วัยเกษียณอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนวัยทำงานอาจสนใจลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า

ถึงตอนนี้ หวังว่าเพื่อนๆ คงจะรู้จักกับตราสารหนี้มากขึ้นแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ลองพิจารณากันดูครับว่า ตราสารหนี้เป็นคำตอบสำหรับคุณหรือไม่ ถ้าใช่ ตราสารหนี้ประเภทใดเหมาะกับสไตล์ และวัตถุประสงค์การลงทุนของคุณ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.krungsri.com

บทความนี้เป็น Advertorial

ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะครับ
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

, ,