ไร่สิงห์ปาร์ค หรือไร่บุญรอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรชื่อดังของจังหวัดเชียงราย สิ่งที่นักท่องเที่ยวรู้คือไร่แห่งนี้มีทุ่งดอกไม้ที่สวยงาม มีไร่ชาขนาดใหญ่ มีกิจกรรมสนุกๆ อย่างซิปไลน์และปั่นจักรยาน แต่สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้คือเบื้องหลังของไร่นี้เป็น Social Enterprise ในประเทศไทยของเครือสิงห์
ผมมีโอกาสได้ร่วม Blogger Trip ไปเยี่ยมชมไร่สิงห์ปาร์ค ได้รับฟังการบรรยายจากผู้บริหาร และเข้าเยี่ยมชมไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม มาดูกันครับว่าในสิงห์ปาร์คมีอะไรบ้าง
Social Enterprise ที่มากกว่า CSR
ก่อนหน้านี้ผมเคยสับสนกับความหมายของ CSR (Corporate Social Responsibility) กับ Social Enterprise แถมยังมีอีกคำคือ CSV (Creating Shared Value) ว่ามันแตกต่างกันยังไง ทางผู้บริหารของสิงห์ช่วยเคลียร์ข้อสงสัยให้ว่า CSR คือการที่บริษัททำธุรกิจแล้วเกิดผลเสียต่อสังคม ก็เลยแสดงความรับผิดชอบด้วยการเอาเงินหรือของไปบริจาค ซึ่งมันเหมือนการทำแก้เก้อ ส่วน CSV คือการเอาแนวคิดของการลดผลเสียต่อสังคมมาใส่ไว้ในกระบวนการของธุรกิจ ถ้าการผลิตทำให้เกิดมลภาวะ งั้นทำยังไงที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปลอดมลภาวะ ส่วน Social Enterprise เป็นการทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาให้สังคมไปเลย เช่น ให้คนพิการมาทำงานผลิตสินค้า หรือให้คนด้อยโอกาสมาเป็นคนขายของ เพื่อให้พวกเขามีรายได้ สรุปว่า CSR เป็นการทำธุรกิจแบบสร้างปัญหาไปแล้วแก้ปัญหาไป CSV เป็นการทำธุรกิจด้วยการพยายามลดปัญหาลง ขณะที่ Social Enterprise คือธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวมันเอง
ไร่สิงห์ปาร์คหรือแต่ก่อนคือไร่บุญรอด เป็นธุรกิจแบบ Social Enterprise ในประเทศไทยของเครือสิงห์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างงานให้คนท้องถิ่นที่เป็นชาวเขาในจังหวัดเชียงราย จะได้ไม่ต้องปลูกฝิ่น ซึ่งในปัจจุบันมีการจ้างงานคนท้องถิ่นเพื่อทำงานในไร่ถึง 1,100 คน ในยุคแรกไร่บุญรอดเริ่มจากการปลูกข้าวบาร์เลย์เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ผลผลิตไม่ดีจนต้องเลิกไป ก็เลยเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น เช่น ชา เห็ดหอม ผัก ผลไม้ ดอกไม้ รวมถึงเลี้ยงสัตว์ เช่น ยีราฟ ม้าลาย แล้วเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ทางไร่ก็มีรายได้ไปจ้างคนท้องถิ่นทำงานต่อไป
ไร่ชาของสิงห์ปาร์คได้บริษัทญี่ปุ่นมาร่วมทุนด้วย ใช้วิธีปลูกแบบญี่ปุ่น ใช้คนท้องถิ่นเก็บยอดใบชาตอนเช้า จากนั้นส่งเข้าโรงงานแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีแบบญี่ปุ่น แล้วส่งออกไปขายต่างประเทศ
มีแปลงทดลองปลูกเสาวรสและบลูเบอร์รี่ ถ้าปลูกแล้วได้ผลดี ก็จะมีการขยายให้แปลงใหญ่ขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้ชาวบ้านนำไปปลูกด้วย
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารภูภิรมย์ภายในไร่ ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในร้านก็มาจากไร่เอง
โดยสรุป Social Enterprise ของไร่สิงห์ปาร์คก็คือธุรกิจการเกษตรที่เบื้องหลังคือแรงงานของคนท้องถิ่น ยิ่งปลูกมากก็ยิ่งทำให้คนท้องถิ่นมีงานทำมาก แล้วสิงห์ก็เอาผลผลิตไปทำการตลาดต่อ ทำร้านอาหาร ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำน้ำผลไม้บรรจุขวด ทำใบชาส่งออก ฯลฯ
ปัจจุบันไร่สิงห์ปาร์คมีพื้นที่ 8,000 ไร่ แต่ใช้งานจริงอยู่เพียง 1,000 ไร่ ที่ดินส่วนหนึ่งซื้อจากชาวนา อีกส่วนเป็นป่าที่เช่าจากกรมป่าไม้ และล้อมรั้วดูแลไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกเข้าไปตัดไม้เพื่อทำไร่
ปลูกอะไรในสิงห์ปาร์ค
หลังจากฟังบรรยายจากผู้บริหารแล้ว ก็ได้เวลาเข้าชมไร่สิงห์ปาร์ค ซึ่งเป็นบริเวณที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ได้เข้าชม เนื่องจากต้องมีการควบคุมการเพาะปลูก
มะเขือเทศ
จุดแรกที่เข้าชมคือแปลงเพาะปลูกมะเขือเทศ ซึ่งมีทั้งมะเขือเทศสำหรับถ่ายรูป และมะเขือเทศสำหรับบริโภค ปกติผมไม่ชอบกินมะเขือเทศสดนะ แต่ลองกินของที่นี่แล้วติดใจเลย รสชาติกลมกล่อมมาก ไม่เปรี้ยวจัดเกินไป
ได้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ว่ามะเขือเทศเป็นพืชที่แพ้บุหรี่ คนสูบบุหรี่เข้ามาในแปลงปลูกไม่ได้เลย แม้แต่มีกลิ่นบุหรี่ติดเสื้อก็ไม่ได้ มะเขือเทศจะไม่ออกลูก และถ้าต้นนึงติด มันจะเป็นไวรัสแพร่ไปต้นอื่นๆ ด้วย
เมล่อน
เมล่อนที่ไร่สิงห์ปาร์คปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เป็นเมล่อนเนื้อสีเขียวที่นำเมล็ดพันธุ์มาจากญี่ปุ่น เวลาที่ออกลูกแล้ว ทางไร่จะตัดลูกออกให้เหลือต้นละหนึ่งลูกเท่านั้น เพื่อให้ไม่ต้องแย่งสารอาหารกัน จะได้ผลเมล่อนที่ดีที่สุด เมื่อได้ลูกเมล่อนที่โตเต็มที่แล้วก็จะตัดลูก ส่วนต้นก็ถูกนำไปทำปุ๋ย เรียกว่าปลูกให้โตเพื่อลูกเพียงลูกเดียวเท่านั้นเอง
สารพัดเบอร์รี่
ไร่สิงห์ปาร์คมีบลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และมัลเบอร์รี่ ช่วงที่ไปคือเดือนมีนาคม ซึ่งผลผลิตถูกเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว เหลือแค่มัลเบอร์รี่ที่ยังอยู่บนต้น ทำให้มีโอกาสได้เด็ดกินสดๆ จากต้นเลย ซึ่งมันหวานอร่อยมาก ใครไปไร่สิงห์ปาร์คต้องลองซื้อน้ำมัลเบอร์รี่มาดื่มดู สดชื่นจริงๆ
เห็ดหอม
ไร่สิงห์ปาร์คมีโรงเพาะเห็ดที่เริ่มตั้งแต่การเตรียมขี้เลื่อยผสมอาหารสำหรับเห็ด บรรจุลงในถุง เข้าเตานึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ ใส่เชื้อเห็ดหอมลงในถุง หมักก้อนเชื้อในห้องแอร์อุณหภูมิ 25 องศา นำก้อนเชื้อมาวางในโรงเพาะที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง พอตอนเช้าก็มีพนักงานมาเก็บดอกเห็ดที่โตเต็มที่ เพื่อส่งไปขายต่อไป
ชาอู่หลง
ที่ไร่สิงห์ปาร์คมีพื้นที่ปลูกชา 3 โซน มีโซนที่ปลูกชาออร์แกนิคด้วย ชาอู่หลงจีน ชาเขียวญี่ปุ่น ชาอังกฤษ ล้วนมาจากต้นชาพันธุ์เดียวกัน ชาเขียวคือผลผลิตของต้นชาที่คนญี่ปุ่นเอาผ้ามาคลุมไว้เพื่อป้องกันหิมะ ทำให้ใบชายังมีคลอโรฟิลล์อยู่มาก ชาเลยมีสีเขียว ส่วนชาอังกฤษเกิดจากชาจีนที่ถูกขนส่งทางเรือ ใบชาถูกหมักใต้ท้องเรือนานเป็นเดือน ทำให้มีรสชาติที่แตกต่าง
ร้านอาหารอร่อยแบบต้องร้องขออีกจาน
ในไร่สิงห์ปาร์คมีโซนขายอาหารอยู่สองโซน คือ Barn House Pizzeria ที่มีร้านอาหารในเครือสิงห์อยู่หลายร้าน และยังเป็นหอซิปไลน์ด้วย โซนนี้เหมาะจะทานเป็นมื้อเที่ยง ส่วนอีกโซนคือร้านอาหารภูภิรมย์ เป็นโซนที่บรรยากาศดี วิวสวย เหมาะที่จะทานเป็นมื้อเย็น
Barn House Pizzeria
Barn House Pizzeria ขายอาหารตะวันตก มีทั้งพิซซ่า พาสต้า สเต็ก และมีร้านอาหารอื่นที่อยู่ในเครือสิงห์ด้วย ที่รู้จักกันดีก็คือชีสเค้ก Farm Design (ใช่ครับ Farm Design เป็นร้านในเครือสิงห์ เจรจากับญี่ปุ่นอยู่นานกว่าจะขอเอามาขายในไทยได้)
เมนูแนะนำของที่นี่ก็ต้อง Pacata Curry Pizza เป็นพิซซ่าหน้าแกงกะหรี่เนื้อโรยหน้าด้วยชีสเยิ้มๆ อยู่บนแป้งพิซซ่าแบบบางกรอบ รสชาติเข้ากันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ อร่อยระดับมงกุฎเพชร
อีกเมนูที่แนะนำคือ Porter House เนื้อทีโบนสเต็กหนัก 800 กรัม ย่างบนไฟจากไม้พุทราที่มีกลิ่นหอม ความสุกระดับมีเดียมแรร์ ด้วยความหนาของเนื้อ ทำให้ผิวด้านนอกเกรียมๆ หน่อย แต่ด้านในยังชุ่มฉ่ำไปด้วยฮีโมโกลบิน เสิร์ฟบนจานเปลสแตนเลสขนาดยักษ์ ขอบจานโรยด้วยเกลือเมดิเตอเรเนียน จริงๆ ตัวเนื้อมีรสชาติที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าชอบรสจัดขึ้นก็เอาเนื้อไปเช็ดกับเกลือบนขอบจานได้ เสิร์ฟพร้อมผักย่าง มันฝรั่งย่างโรยหน้าด้วยเบคอนกรอบ และสลัดผักสดที่อร่อยอย่างรุนแรง
ใครไม่ทานเนื้อก็ลอง Pork Chop หนัก 600 กรัม ชิ้นหนาเป็นพิเศษ เสิร์ฟพร้อมซอสแอปเปิ้ลและพุทรา มาพร้อมกับผักย่าง มันฝรั่งย่าง และสลัดผักสดเช่นกัน
ส่วนใครมาสายเฮลตี้ ลองสั่งสลัดผักย่าง หรือสลัดมะเขือเทศเสิร์ฟพร้อมมอซซาเรลล่าชีส คือทุกสิ่งที่อย่างที่ทำจากผักของที่นี่ มันสดอร่อยจริงๆ
ยังมีอีกหลายเมนูที่ได้ลอง ต้องบอกว่ายังไม่เจอเมนูที่ไม่อร่อยเลย เมนูที่แนะนำนี่คืออร่อยสุดยอดจริงๆ
ปิดท้ายมื้อด้วยของหวาน ชีสเค้กชิ้นเล็กน่ารักจาก Farm Design ซึ่งเป็นเมนูที่ไม่มีขายในกรุงเทพด้วย
Barn House Pizzeria เปิดบริการ 11.00 – 20.00 น.
ร้านอาหารภูภิรมย์
อีกหนึ่งร้านที่อยู่ในไร่สิงห์ปาร์ค เป็นร้านที่นำผลผลิตจากในไร่มาปรุงเสิร์ฟให้ลูกค้า บรรยากาศร้านดีมาก มีนักดนตรีเล่นเพลงให้ฟังสดๆ ตอนเย็นอากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การนั่งทานข้าวชิลๆ
เมนูแนะนำของร้านนี้ก็ต้องเป็นใบชาทอดกรอบ เห็นหน้าตาตอนแรกนึกว่าผักบุ้งทอดกรอบที่ต้องมาพร้อมน้ำยำ แต่ใบชาทอดกรอบที่นี่ไม่ต้องยำ เพราะปรุงรสมาดีอยู่แล้ว มีรสเค็มปะแล่มๆ ของตัวแป้ง และรสขมนิดๆ ของใบชา กินเป็นออเดิร์ฟเพลินๆ ดีครับ
จานต่อมาคือเห็ดหอมทอดซีอิ๊ว กรอบนอก นุ่มใน กินเพลินไม่แพ้กัน
ยำคะน้าใบหยิก (Kale) ก็ยอดเยี่ยม รสชาติไม่เหมือนคะน้าปกติที่เคยกินมา น้ำยำรสชาติกลมกล่อม มีเนื้อลวกด้วย ซึ่งนุ่มละมุนลิ้นมาก
อีกจานที่ผมชอบคือปีกไก่ทอดซอสพริก เป็นกับข้าวที่เปลืองข้าวสวยมาก รสชาติจัดจ้านจนต้องขอเติมข้าว
เมนูอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารไทย แต่ก็มีอาหารตะวันตกอย่างขาหมูเยอรมันอยู่บ้าง
ร้านอาหารภูภิรมย์ เปิดบริการ 11.00 – 22.00 น.
ซิปไลน์ กิจกรรมสนุกสุดเหวี่ยง
ซิปไลน์คือกิจกรรมสำหรับผู้รักความท้าทาย โดยการโหนสลิงลงมาจากที่สูง ได้ชมวิวแบบ 360 องศา ซึ่งในไร่สิงห์ปาร์คมีซิปไลน์อยู่สองจุด คือบริเวณ Barn House Pizzeria และอีกจุดคือในไร่ชา โดยจุดที่ผมได้เล่นคือตรง Barn House Pizzeria เป็นหอที่มีความสูง 25 เมตร ผู้เล่นจะต้องเตรียมความพร้อมจากอาคารด้านล่างด้วยการสวมหมวกนิรภัยและคล้องอุปกรณ์โหนสลิง จากนั้นขึ้นลิฟต์ไป 6 ชั้น และเดินขึ้นบันไดอีก 2 ชั้น จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรา เอาเชือกที่คล้องตัวเราไปเกี่ยวกับสลิง ซึ่งมีเชือกสองเส้น เส้นหลักเป็นเชือกสั้นตึงสำหรับโหนตัว อีกเส้นยาวและหย่อนกว่าเพื่อใช้เป็นเชือกนิรภัยในกรณีที่เชือกเส้นหลักขาด
หอซิปไลน์มีสลิงสองเส้น สามารถโหนได้พร้อมกันสองคน ตอนปล่อยตัวจะให้ย่อขาเหมือนเวลานั่งเก้าอี้ จากนั้นก็ลอยออกไปเลย ง่ายมาก ไม่น่ากลัวด้วย ตอนโดดหอ ร.ด. น่ากลัวกว่าสิบเท่า (เพราะเป็นการโดดทั้งที่เท้ายังยืนอยู่กับพื้น แถมโดดแล้วมีดิ่งวูบลงมาให้เสียวเล่นด้วย ขณะที่ซิปไลน์จะไหลแบบนิ่งกว่า)
ผู้เล่นสามารถถือกล้องถ่ายตอนโหนได้ แต่ต้องจับให้แน่นเองนะ ผมไม่มั่นใจมือตัวเอง ก็เลยสวมกล้อง GoPro ติดไว้ที่หน้าอกแทน เล่นรอบแรกมือจับเชือกด้านบน แขนเลยไปบังมุมกล้อง เลยขอแก้ตัวรอบสองด้วยการปล่อยมืออิสระ คราวนี้ถ่ายได้วิว 360 องศาเลย แต่ถ้ามีโอกาสเล่นอีกรอบ จะใช้มือถือกล้องแล้วถ่ายเซลฟี่ตัวเองแทน ได้อารมณ์กว่าเยอะ
สำหรับค่าเล่นซิปไลน์อยู่ที่ 800 บาทต่อคนครับ
ของฝากนักช็อป
ไร่สิงห์ปาร์คมีของฝากน่าซื้อหลายอย่าง มีอาคารสำหรับชิมชา น้ำผลไม้ และแยมด้วย ลองชิมดูก่อนจะได้ตัดสินใจซื้อได้ถูกครับ
อย่างแรกที่ควรซื้อก็คือชา มีชาสารพัดกลิ่นสารพัดรสให้เลือกเยอะมาก ทั้งชาจีน ชาเขียวญี่ปุ่น ชาอังกฤษ เลือกตามที่ชอบได้เลย
อย่างที่สองที่ไม่ใช่แค่ควรซื้อ แต่ต้องซื้อเลย พลาดไม่ได้เด็ดขาด นั่นก็คือเห็ดหอมดองซีอิ๊ว กระปุกละ 95 บาท อร่อยมาก รสชาติหวานนำ เค็มนิด เผ็ดปะแล่มๆ กินกับข้าวสวยหรือข้าวต้มก็อร่อย ประทับใจมาก
อย่างที่สามที่น่าลองคือเครื่องดื่มบรรจุขวด มีทั้งชาอู่หลง เอาไปแช่เย็นก่อนดื่ม หอมชื่นใจมาก น้ำเสาวรส เปรี้ยวสดชื่น และน้ำมัลเบอร์รี่ หวานกลมกล่อม
อย่างที่สี่ที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะซื้อ แต่พอลองชิมแล้วติดใจ ก็คือแยม มีทั้งแยมมัลเบอร์รี่และแยมมะนาว รสชาติที่หากินทั่วไปไม่ได้ มาถึงที่ก็ต้องจัดอย่างละกระปุก กระปุกละ 80 บาท
พวกผลไม้สดก็มีให้ซื้อ แต่ต้องขึ้นกับฤดูกาล ตอนที่ผมไปมีราสเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ กับมะเขือเทศ
นอกจากนี้ก็มีพวกสบู่ โลชั่น อันนี้แล้วแต่ความชอบเลย
ใครมีแผนจะไปเชียงราย อยากให้ลองแวะไปไร่สิงห์ปาร์ค ไปกินผลผลิตอร่อยๆ จากคนท้องถิ่น ถ่ายรูปกับไร่ชาและทุ่งดอกไม้สวยๆ เล่นซิปไลน์ ขี่จักรยาน บางช่วงมีเทศกาลบอลลูน เทศกาลดนตรีด้วย จะได้รู้ว่า Social Enterprise ของบริษัทคนไทยเป็นยังไง