จากรถเข็นขายฮอตด็อกใน Madison Square Park เมื่อปี 2001 กลายเป็นร้านอาหารที่มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านสูงกว่าแมคโดนัลด์สองเท่า บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2014 ด้วยราคา IPO 21 เหรียญ พุ่งขึ้นเป็น 47 เหรียญ หรือ 123% ภายในวันแรกที่มีการซื้อขายหุ้น ร้านขายเบอร์เกอร์ Shake Shack มีดีอะไร?
ผมมีโอกาสได้ลิ้มลองเบอร์เกอร์ Shake Shack จากการร่วมทริปของสิงห์ปาร์คเชียงราย ซึ่งตามโปรแกรมแล้วไม่ได้แวะร้านนี้ แถมพอจะแวะไปสาขาแถวโรงแรมย่าน Times Square ตอนกลางคืน คนก็ต่อคิวกันล้นร้าน โชคดีที่อยู่เที่ยวต่อเอง เลยมีโอกาสได้แวะกินมื้อเช้าวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ และไม่ผิดหวังเลย เพราะนอกจากความอร่อยแล้ว Shake Shack ยังเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ทำให้นึกถึงธุรกิจ Social Enterprise อย่างสิงห์ปาร์คด้วย
Shake Shack เป็นร้านที่มีสโลแกนว่า Stand For Something Good จุดเริ่มต้นเกิดจากรถเข็นขายฮอตด็อกใน Madison Square Park เพื่อสนับสนุนงานจัดแสดงศิลปะครั้งแรกของ Madison Square Conservancy ปรากฎว่ารถเข็นประสบความสำเร็จมาก มีคนต่อคิวยาวทุกวัน ต่อมาในปี 2004 จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็น Kiosk ถาวรในสวนที่มาพร้อมกับชื่อ Shake Shack

เมนูร้าน Shake Shack มีปริมาณแคลอรี่บอกไว้ด้วย
เมนูเด่นของ Shake Shack คือเบอร์เกอร์เนื้อแองกัสที่ถูกเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ 100% ไม่ใช้ฮอร์โมน ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ถูกปรุงสุกแบบมีเดียม เสิร์ฟพร้อมขนมปัง Martin’s Potato Roll ที่ไม่ใช่ GMO เมื่อกัดเข้าปากคำแรก จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมนัวของเนื้อแองกัสที่เพิ่งผ่านไฟร้อนๆ มา
ถ้าอยากกินไก่ก็มี Chick’n Shack ที่ผลิตจากไก่ที่ถูกเลี้ยงโดยวิธีธรรมชาติ 100% ไม่ได้เลี้ยงในกรงขัง หรืออยากกินฮอตด็อกก็เป็นเนื้อเวียนนาที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ 100% เช่นกัน
ส่วนเฟรนช์ฟรายส์ทำจากมันฝรั่ง Yukon หั่นแบบหยัก ไม่มีส่วนประกอบที่มาจากสารสังเคราะห์
เมนูของหวานที่ต้องลองคือไอศกรีมนมที่ทางร้านเรียกว่า Custard ส่วนประกอบทำจากน้ำตาลแท้ ไม่มีน้ำเชื่อมจากข้าวโพด ส่วนนมก็มาจากฟาร์มที่ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งโต นำมาปั่นด้วยความเย็นจนได้เนื้อไอศกรีมที่เนียนนุ่ม อร่อยขั้นรุนแรง
นอกจากวัตถุดิบที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค Shake Shack ยังมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านอื่นๆ อีก เช่น ขวดน้ำดื่มและพลาสติกทั้งหมดจะถูกคัดแยกเพื่อการรีไซเคิล การสนับสนุนฟาร์มที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีเทคโนโลยีทำความสะอาดน้ำมันปรุงอาหารเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้ กระดาษรองอาหารได้รับการรับรองจาก Sustainable Forestry Initiative และพิมพ์ด้วยหมึกจากถั่วเหลือง รวมถึงหลังคาของร้านบางสาขาติดตั้งแผงโซลาร์เซลที่ผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับที่ใช้งานในบ้านเดี่ยวสองหลัง
ร้าน Shake Shack แต่ละสาขาจะถูกออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในย่านนั้น โต๊ะอาหารทำจากพื้นลานโบว์ลิ่งเก่า เก้าอี้ทำจากวัสดุที่มีความยั่งยืน ไม้ที่ใช้ตกแต่งภายในร้านก็ได้รับการรับรองจาก Forestry Stewardship Council

โต๊ะไม้ในร้าน Shake Shack ทำจากลานโบว์ลิ่ง
Shake Shack พยายามเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของทุกชุมชนที่เข้าไปอยู่ มีการบริจาคเงินจากยอดขาย 5% ให้แก่องค์กรการกุศลในท้องถิ่น และมีโปรแกรมส่งเสริมให้พนักงานทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ การสอนหนังสือเด็ก การทำความสะอาดสวนสาธารณะ และอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ในจิตวิญญาณของ Shake Shack ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆ ด้าน รับผิดชอบต่อลูกค้า ต่อพนักงาน ต่อพันธมิตรทางธุรกิจ ต่อชุมชน และต่อสิ่งแวดล้อม
ใครไปนิวยอร์ก แนะนำให้ไปลอง Shake Shack ดูสักมื้อครับ รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน